พระเจ้ามีจริงหรือ โลกที่เราอยู่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญหรือมีผู้สร้าง
ความเชื่อ ความหวังใจ และความรัก แต่ความรักใหญ่ที่สุด
1 โครินธ์ 13:13
Facebook Page   

> บทความคริสเตียน > คริสเตียนต้องถวายสิบลด… จริงหรือ?

คริสเตียนต้องถวายสิบลด… จริงหรือ?

เรียบเรียงโดย พายุแห่งความเปรมปรีดิ์

เมื่อเรามาเป็นคริสเตียน สิ่งหนึ่งที่เราถูกสอนให้ทำก็คือ “การถวาย” เพราะการถวายเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการ ไม่เพียงเท่านี้ หลาย ๆ คนยังถูกสอนอีกว่า คริสเตียนที่ดีนั้นต้อง “ถวายสิบลด” เพราะนี่เป็นคำสั่งของพระเจ้า เป็นสิ่งที่พระคัมภีร์ได้บอกเอาไว้ การไม่ทำในสิ่งที่พระคัมภีร์สั่ง ถือว่าเป็นความบาป และหากเราเชื่อฟัง หากเราถวายสิบลดอย่างสัตย์ซื่อแล้ว พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะอวยพรเราอย่างแน่นอน คำถามก็คือ นี่คือสิ่งที่พระคัมภีร์ได้สอนเราจริงหรือ?

คริสเตียนต้องถวายสิบลด… จริงหรือ?

A. ทศางค์ (หรือการให้สิบลด) คืออะไร

ทศางค์ หรือ ร้อยละสิบ คือส่วนที่คนอิสราเอลต้องถวายแด่พระเจ้า เพราะนี่คือบทบัญญัติที่พระเจ้าได้กำหนดไว้ผ่านทางโมเสส เหมือนกับที่กล่าวไว้ในพระธรรมเลวีนิติ 27:30 ว่า

“ทศางค์ทั้งสิ้นที่ได้จากแผ่นดินเป็นพืชที่ได้จากแผ่นดินก็ดี หรือผลจากต้นไม้ก็ดี เป็นของพระยาห์เวห์ เป็นของถวายที่บริสุทธิ์แด่พระยาห์เวห์”

คนอิสราเอลในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือไม่ก็อาชีพปศุสัตว์ ดังนั้นสิ่งที่คนอิสราเอลถวายเป็นทศางค์ให้แก่พระเจ้าก็คือผลผลิตจากพืชหรือต้นไม้ที่เขาได้ปลูก หรือสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ที่เขาได้เลี้ยงเอาไว้นั่นเอง

“ท่านจงถวายทศางค์ของผลิตผลจากพืชพันธุ์ที่ได้ในนาของท่านแต่ละปี ท่านจงรับประทานทศางค์ที่ได้จากข้าว เหล้าองุ่น และน้ำมันของท่าน และผลรุ่นแรกจากฝูงโคและฝูงแพะแกะของท่าน เฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านในสถานที่ซึ่งพระองค์ทรงเลือกไว้ เพื่อให้พระนามของพระองค์ประทับที่นั่นเพื่อท่านจะได้เรียนรู้ที่จะยำเกรงพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านเสมอ” เฉลยธรรมบัญญัติ 14: 22 – 23

B. เหตุผลของการถวายทศางค์

สาเหตุที่คนอิสราเอลต้องถวายทศางค์ก็เพราะว่าพระเจ้าทรงเลือกคนเผ่าเลวีให้ทำหน้าที่เป็นปุโรหิต ให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ในเต็นท์นัดพบหรือก็คือพระวิหารในเวลาต่อมา คนเลวีไม่ได้รับแผ่นดินเป็นมรดกเหมือนคนอิสราเอลเผ่าอื่น ๆ เขาจึงไม่มีที่ดินทำกิน พระเจ้าจึงตั้งระบบการถวายทศางค์ขึ้นเพื่อเลี้ยงดูคนเลวี เพื่อเลี้ยงดูผู้รับใช้ที่ทำงานในพระวิหารของพระองค์นั่นเอง

“และดูสิ เราให้ทศางค์ทั้งหมด ในอิสราเอลแก่คนเลวีเป็นมรดก เป็นค่าตอบแทนงานที่เขาทั้งหลายทำอยู่ คืองานที่เต็นท์นัดพบ ตั้งแต่นี้ไปคนอิสราเอลจะไม่เข้ามาใกล้เต็นท์นัดพบ เกรงว่าพวกเขาจะรับโทษบาปถึงตาย แต่คนเลวีจะต้องทำงานของเต็นท์นัดพบ และพวกเขาจะต้องรับโทษความผิดของเขา จะเป็นกฎกำหนดถาวรตลอดชาติพันธุ์ของเจ้า เขาทั้งหลายจะไม่มีส่วนมรดกท่ามกลางคนอิสราเอล เพราะว่าทศางค์ของคนอิสราเอล ซึ่งถวายแด่พระยาห์เวห์เป็นเครื่องถวาย เราได้ให้แก่คนเลวีเป็นมรดก เพราะฉะนั้นเราจึงบอกพวกเขาว่าเขาจะไม่มีมรดกท่ามกลางคนอิสราเอล” กันดารวิถี 18:21 – 24

การถวายทศางค์นั้นเป็นหน้าที่ของคนอิสราเอลทุกคน แม้ว่าคนเผ่าเลวีที่ไม่มีแผ่นดินเป็นมรดกก็ต้องถวายทศางค์ด้วย โดยเขาต้องให้ร้อยละ 10 ของทศางค์ที่เขาได้รับมา

“พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า “ยิ่งกว่านั้น เจ้าจงกล่าวแก่คนเลวีว่า ‘เมื่อพวกเจ้ารับทศางค์จากคนอิสราเอล ซึ่งเราให้แก่พวกเจ้าเป็นมรดกของเจ้าที่มาจากพวกเขานั้น เจ้าจงนำร้อยละสิบจากทศางค์นั้นถวายแด่พระยาห์เวห์เป็นเครื่องถวาย และเครื่องถวายของพวกเจ้านั้นจะนับเสมือนพืชผลที่ได้จากลานนวดข้าว และเสมือนผลผลิตเต็มเปี่ยมจากบ่อย่ำองุ่น ดังนั้นพวกเจ้าต้องถวายเครื่องถวายจากทศางค์ทั้งหมดของเจ้าที่รับจากคนอิสราเอลนั้นแด่พระยาห์เวห์ด้วย แล้วพวกเจ้าจงมอบส่วนที่เป็นเครื่องถวายแด่พระยาห์เวห์นี้ให้แก่อาโรนปุโรหิต” กันดารวิถี 18:25 – 28

C. การถวายทศางค์ของคนอิสราเอล

เรามักเข้าใจว่าคนอิสราเอลได้ถวายให้พระเจ้าร้อยละ 10 เหมือนกับที่คริสเตียนถวาย แต่เรารู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วพระเจ้าได้สั่งให้คนอิสราเอลถวายมากกว่านั้น โดยการถวายทศางค์ของคนอิสราเอลมีดังนี้

1. ถวายทศางค์สำหรับผลผลิตที่ได้รับ

จากพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 14: 22 – 23 พระเจ้าได้สั่งให้คนอิสราเอลถวายทศางค์จากผลผลิตที่ได้รับในแต่ละปี หรือให้ถวายฝูงโคหรือฝูงแพะ แกะ จาก 1 ในสิบตัว ซึ่งนี่คือทศางค์แรกหรือร้อยละ 10 ที่คนอิสราเอลต้องถวายให้พระเจ้า

“และทศางค์ที่มาจากฝูงโค หรือฝูงแพะแกะ คือสัตว์หนึ่งในสิบตัวที่ถูกนับด้วยไม้เท้าของผู้เลี้ยง เป็นสัตว์บริสุทธิ์แด่พระยาห์เวห์ อย่าให้คิดว่าดีหรือไม่ดีและอย่าให้เขาสับเปลี่ยน ถ้าเขาสับเปลี่ยน ทั้งตัวที่นำมาเปลี่ยนและตัวที่ถูกเปลี่ยนจะเป็นของบริสุทธิ์ไถ่ไม่ได้” เลวีนิติ 27:32 – 33

แต่หากไม่อยากถวายเป็นสิ่งของ คนอิสราเอลสามารถถวายเป็นเงินได้ แต่ต้องเสียค่าไถ่ทศางค์นั่นอีกหนึ่งในห้า นั่นคือ หากต้องการถวายทศางค์เป็นเงินแทนสิ่งของ จะต้องทำการถวายทั้งหมดร้อยละ 12 นั่นเอง

“ถ้าคนใดประสงค์จะไถ่ทศางค์ส่วนใดๆ ของเขา เขาต้องเพิ่มอีกหนึ่งในห้าของทศางค์นั้น” เลวีนิติ 27:31

2. ทศางค์สำหรับงานรื่นเริง

นอกจากทศางค์ที่ต้องถวายเพื่อคนเลวีแล้ว ในแต่ละปีคนอิสราเอลจะถวายทศางค์สำหรับงานรื่นเริงด้วย การถวายในส่วนนี้ไม่ใช่สำหรับเพื่องานรับใช้พระเจ้า แต่เป็นเงินถวายสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการเข้าร่วมงานรื่นเริงฉลองตามเทศกาล ซึ่งนี่เป็นการถวายอีกร้อยละ 10 หรือการถวายทศางค์ครั้งที่ 2 นั่นเอง

“ท่านจงถวายทศางค์ของผลิตผลจากพืชพันธุ์ที่ได้ในนาของท่านแต่ละปี ท่านจงรับประทานทศางค์ที่ได้จากข้าว เหล้าองุ่น และน้ำมันของท่าน และผลรุ่นแรกจากฝูงโคและฝูงแพะแกะของท่าน เฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านในสถานที่ซึ่งพระองค์ทรงเลือกไว้ เพื่อให้พระนามของพระองค์ประทับที่นั่นเพื่อท่านจะได้เรียนรู้ที่จะยำเกรงพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านเสมอ ถ้าระยะทางไกลเกินไป จนท่านไม่สามารถนำทศางค์มาได้ เพราะสถานที่ซึ่งพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงเลือกเพื่อเป็นที่สถาปนาพระนามของพระองค์นั้นอยู่ห่างไกลจากท่านเกินไป เมื่อพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงอวยพรแก่ท่าน ท่านจงขายของนั้นเอาเงินและห่อเงินถือไว้ และไปยังสถานที่ซึ่งพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านได้ทรงเลือกไว้ และเอาเงินนั้นซื้อสิ่งใด ๆ ที่ท่านปรารถนา จะเป็นโค แกะ หรือเหล้าองุ่น หรือสุรา และสิ่งใด ๆ ที่ท่านอยากรับประทาน และท่านจงรับประทานที่นั่นเฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน และจงยินดีทั้งตัวท่านและครอบครัวของท่านด้วย ห้ามทอดทิ้งคนเลวีซึ่งอยู่ในเมืองของท่าน เพราะเขาไม่มีส่วนแบ่งหรือมรดกกับท่าน” เฉลยธรรมบัญญัติ 14:22 – 27

3. ทศางค์สำหรับคนจน

ตลอดพระคัมภีร์ พระเจ้าไม่เคยลืมคนยากจน ไม่เคยลืมหญิงม่ายและเด็กกำพร้า พระเจ้าได้ให้คนอิสราเอลถวายทศางค์ทุก ๆ 3 ปี เพื่อกันเงินส่วนนี้ไว้สำหรับช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยเฉลี่ยแล้วคนอิสราเอลจะต้องถวายสำหรับคนจนประมาณร้อยละ 3.3 ต่อปี

“เมื่อครบทุกสามปีท่านจงนำทศางค์ทั้งหมดจากพืชผลที่ได้ในปีนั้นมาสะสมไว้ในเมืองของท่าน คนเลวี เพราะเขาไม่มีส่วนแบ่งหรือมรดกอย่างท่าน และคนต่างด้าวและลูกกำพร้า และแม่ม่าย ผู้ซึ่งอยู่ภายในเมืองของท่าน จะได้มารับประทานอย่างอิ่มหนำ เพื่อว่าพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านจะทรงอวยพรแก่บรรดากิจการซึ่งมือของท่านได้ทำนั้น” เฉลยธรรมบัญญัติ 14:28 – 29

หากเรารวมทศางค์ต่าง ๆ ที่คนอิสราเอลจะต้องถวายในแต่ละปี พบกว่าคนยิวจะต้องถวายทั้งหมดถึง 23.3 – 25.3% ซึ่งมากกว่าทศางค์ที่คริสเตียนในปัจจุบันเข้าใจคือร้อยละ 10 เท่านั้น

คริสเตียนต้องถวายสิบลด… จริงหรือ?

D. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการถวายสิบลด

เราที่เป็นคริสเตียนต่างรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการถวายสิบลดเป็นอย่างดี เพราะแต่ละคริสตจักรได้มีการสอนเรื่องนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มตั้งแต่ผู้เชื่อใหม่ไปจนถึงผู้ที่เชื่อมานานแล้ว อย่างไรก็ตามคริสเตียนส่วนใหญ่ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการถวายเป็นอย่างมาก ยังมีความสับสนและมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องจากการเอาหลักการถวายในสมัยพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมาปะปนกับหลักการถวายในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่

ในสมัยพระคัมภีร์เดิมนั้น บทบัญญัติต่าง ๆ เปรียบเสมือนข้อตกลงที่พระเจ้าทำต่ออับราฮัมและคนอิสราเอลว่าจะต้องประพฤติและปฏิบัติตนอย่างไร พระเจ้าสัญญาว่าจะดูแลและอวยพรอับราฮัมและพงศ์พันธุ์ของเขา เมื่อเขาเหล่านั้นปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า อย่างไรก็ตาม หากคนอิสราเอลไม่ทำตามบทบัญญัติ ไม่เชื่อฟังในสิ่งที่พระเจ้าได้บอกไว้ ก็จะมีการลงโทษหรือคำสาปแช่งตามมา

“ดูสิ วันนี้ข้าพเจ้าได้นำคำอวยพรและคำสาปแช่งมาไว้ตรงหน้าท่านทั้งหลาย เป็นคำอวยพร ถ้าพวกท่านเชื่อฟังพระบัญญัติของพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ซึ่งข้าพเจ้าบัญชาท่านในวันนี้ เป็นคำสาปแช่ง ถ้าท่านไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน แต่หันเหไปจากทางซึ่งข้าพเจ้าได้บัญชาท่านในวันนี้ ไปติดตามพระอื่นซึ่งท่านไม่รู้จัก" เฉลยธรรมบัญญัติ 11:26 - 28

การถวายทศางค์เป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่โมเสสได้เขียนเอาไว้ เป็นคำสั่งจากพระเจ้าให้คนอิสราเอลทุกคนต้องทำตาม นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนอิสราเอลทุกคนจะต้องถวายทศางค์ถ้าหากเขาไม่อยากถูกพระเจ้าลงโทษ

อย่างไรก็ตามในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่นั้น ไม่มีตอนไหนเลยที่สั่งให้ผู้เชื่อทุกคนต้องถวายสิบลด เพราะเรารอดโดยพระคุณผ่านทางความเชื่อ ความรอดไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำ ไม่ได้เกิดจากการประพฤติตามธรรมบัญญัติ

"เพราะว่าท่านทั้งหลายได้รับความรอดแล้วด้วยพระคุณโดยทางความเชื่อ ความรอดนี้ไม่ใช่มาจากตัวท่าน แต่เป็นของประทานจากพระเจ้า ไม่ใช่มาจากการกระทำ เพื่อไม่ให้ใครอวดได้ เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ทำการดี ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ก่อนแล้วเพื่อให้เราดำเนินตาม" เอเฟซัส 2:8 - 10

พระเจ้าให้เรามีสิทธิเสรีภาพมากกว่าคนอิสราเอลที่อยู่ในภาคพันธสัญญาเดิม การถวายในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่จึงเป็นการถวายตามที่คิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ด้วยนึกเสียดาย เรามีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจว่าจะถวายยังไง ถวายในจำนวนเท่าไร

“แต่ละคนจงให้ตามที่เขาคิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ให้ด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ให้ด้วยความจำใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนที่ให้ด้วยใจยินดี” 2 โครินธ์ 9:7

เปรียบเสมือนลูกของเรา เมื่อตอนเป็นเด็ก เมื่อตอนที่เขายังไม่รู้เรื่องราวอะไร พ่อแม่ต้องตั้งกฎต่าง ๆ ให้ลูกทำตาม เช่น ต้องกินข้าวก่อนกินขนม (เพราะเรากลัวลูกจะขาดสารอาหาร) ถ้าการบ้านไม่เสร็จห้ามออกไปเล่นข้างนอก (เพราะต้องการให้ลูกทบทวนบทเรียนและมีความรับผิดชอบ) เป็นต้น แต่พอลูกเราโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น กฎต่าง ๆ ที่เคยตั้งครั้งเมื่อตอนเป็นเด็กก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เขามีสิทธิและเสรีภาพสามารถตัดสินใจเองได้

เช่นเดียวกัน ในสมัยพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมนั้น คนอิสราเอลยังมีความรู้ที่จำกัด เขาจึงต้องการกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของตัวของเขาเอง แต่เมื่อมาถึงสมัยพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ เมื่อมาถึงยุคของคริสเตียน พระเยซูได้ทำทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้วบนไม้กางเขนนั้น เราจึงมีพระคัมภีร์ที่ทำให้เรารู้จักพระเจ้าได้ เรามีพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่คอยสอนเรา คอยช่วยเหลือเรา เราสามารถอธิษฐานต่อพระเจ้าได้โดยตรง เราไม่ได้รอดโดยผ่านการกระทำ แต่รอดโดยพระคุณผ่านทางความเชื่อ ดังนั้น กฎเกณฑ์ต่าง ๆ จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเรารู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัย และอะไรดียอดเยี่ยม พระเจ้าให้เรามีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจ เพราะนี่คือยุคแห่งพระคุณ

ดังนั้นในเรื่องของการถวายนั้น หากเรานำพันธสัญญาแห่งการประพฤติ พระสัญญาของการทำตามธรรมบัญญัติแบบในยุคเดิมมาปะปนกับพระสัญญาแห่งพระคุณที่ไม่พึ่งพาการกระทำ ก็อาจจะทำให้มีความเข้าใจที่สับสนได้ ซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอาจจะพอสรุปได้ดังนี้

1. พระคัมภีร์ได้สั่งให้คริสเตียนทุกคนต้องถวายสิบลด - เป็นสิ่งไม่จริง

- สมัยพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม

มีการกล่าวอ้างว่าการถวายทศางค์นั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีบทบัญญัติของโมเสสเสียอีก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่เราต้องถวายสิบลดตามอย่างคนในพระคัมภีร์

คริสเตียนต้องถวายสิบลด… จริงหรือ?

1.1 อับราฮัม

เรามักได้ยินคำกล่าวอ้างบ่อย ๆ ว่าการถวายทศางค์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยอับราฮัมแล้ว เหมือนที่บอกไว้ในปฐมกาล 14:17 – 24

เมื่ออับรามกลับจากการรบชนะกษัตริย์เคโดร์ลาโอเมอร์และกษัตริย์ทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันแล้ว กษัตริย์เมืองโสโดมก็มาพบอับรามที่หุบเขาชาเวห์(คือหุบเขาของกษัตริย์) เมลคีเซเดคผู้เป็นทั้งกษัตริย์ซาเลมและปุโรหิตของพระเจ้าผู้สูงสุด ก็นำขนมปังกับเหล้าองุ่นมาให้ แล้วอวยพรท่าน กล่าวว่า “ขอให้อับรามรับพรจากพระเจ้าผู้สูงสุด ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ขอพระเกียรติเป็นของพระเจ้าผู้สูงสุด ผู้ทรงมอบศัตรูทั้งหลายไว้ในมือของท่าน” อับรามก็มอบหนึ่งในสิบจากข้าวของทั้งหมดนั้นถวายแก่กษัตริย์เมลคีเซเดค ฝ่ายกษัตริย์เมืองโสโดมตรัสแก่อับรามว่า “ขอคืนคนให้แก่เรา แต่ข้าวของนั้นท่านจงเอาไปเถิด” อับรามกล่าวแก่กษัตริย์เมืองโสโดมว่า “ข้าพเจ้ายกมือสาบานต่อพระยาห์เวห์พระเจ้าผู้สูงสุด ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ว่า แม้เส้นด้ายหรือสายรัดรองเท้า หรือทุกอย่างที่เป็นของของท่าน ข้าพเจ้าก็จะไม่รับเพื่อไม่ให้ท่านพูดได้ว่า ‘เราได้ทำให้อับรามมั่งมี’ เว้นแต่เสบียงอาหารที่คนของข้าพเจ้าได้รับประทานเท่านั้น กับส่วนของคนที่ไปกับข้าพเจ้า อาเนอร์ เอชโคล์ และมัมเร ให้พวกเขารับส่วนของพวกเขาไปเถิด”

นอกจากนี้ยังอ้างถึงพระธรรมฮิบรู 7: 1 – 2 ดังนี้

เมลคีเซเดค ผู้นี้คือกษัตริย์เมืองซาเลม เป็นปุโรหิตของพระเจ้าผู้สูงสุด มาพบอับราฮัมขณะที่อับราฮัมกำลังกลับมาจากการรบชนะกษัตริย์ทั้งหลาย ท่านได้อวยพรอับราฮัม อับราฮัม ก็ถวายทศางค์ จากสิ่งสารพัด แก่เมลคีเซเดค ประการแรก นามของท่านแปลว่า กษัตริย์แห่งความชอบธรรม และประการต่อมา ท่านเป็นกษัตริย์เมืองซาเลม ด้วยซึ่งหมายถึงกษัตริย์แห่งสันติสุข

อย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าทศางค์ในสมัยของอับราฮัมนั้นแตกต่างจากการถวายสิบลดในปัจจุบัน ดังนี้

- อับราฮัมถวายทศางค์จากของที่ริบมา

ตามบทบัญญัติของโมเสสนั้น การถวายทศางค์ต้องเป็นการถวายจากสิ่งที่เราได้รับจากการประกอบอาชีพ (เฉลยธรรมบัญญัติ 14: 22 – 23) ไม่ใช่จากการเอาของ ๆ คนอื่นมาถวาย

อับราฮัมไม่ได้ถวายทศางค์จากทรัพย์สินทั้งหมดของตน แต่เป็นของคนอื่นที่ริบมาได้จากการชนะสงคราม ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะขอบพระคุณพระเจ้าที่ประทานชัยชนะและสามารถช่วยโลทหลานของตนได้ ในพระธรรม ฮิบรู 7:4 ก็ได้บอกเช่นเดียวกันว่าอับราฮัมถวายทศางค์จากของที่ริบได้

จงคิดดูเถิด ท่านผู้นี้ยิ่งใหญ่เพียงไร ที่อับราฮัมผู้เป็นบรรพบุรุษของเรานั้น ยังได้ถวายทศางค์จากสิ่งที่ริบได้นั้นแก่ท่าน ฮิบรู 7:4

- อับราฮัมถวายทศางค์เพียงครั้งเดียว

การถวายสิบลดของคริสเตียนนั้นเราถวายเป็นประจำทุกอาทิตย์หรือทุกเดือน เราถวายทุก ๆ ครั้งที่เราได้รับเงินเดือนหรือมีรายได้เข้ามา ซึ่งแตกต่างจากการถวายของอับราฮัมที่เป็นการถวายด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ทำตามกฎหรือบทบัญญัติใด ๆ และเป็นการถวายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะเราไม่เคยเห็นพระคัมภีร์ตอนอื่น ๆ บันทึกถึงการถวายทศางค์ของอับราฮัมอีกเลย นี่เป็นการถวายเพียงครั้งเดียวในชีวิตของเขาเท่านั้น ไม่ใช่ถวายเป็นประจำทุกเดือน ทุกปี

- ในพระธรรมฮิบรูไม่ได้สั่งให้คริสเตียนถวายสิบลด

บางคนอ้างว่าคริสเตียนต้องถวายสิบลดตามอย่างอับราฮัมที่ถวายทศางค์ให้กษัตริย์เมลคีเซเดค เหมือนกับที่กล่าวไว้ในในพระธรรมฮิบรูบทที่ 7 นี่คือคำสั่งที่บอกให้คริสเตียนถวายสิบลดในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ แต่หากเราพิจารณาให้ดี พระธรรมฮิบรูตอนนี้ไม่ได้ต้องการจะพูดถึงการถวายสิบลดเป็นหลัก แต่ต้องการจะสื่อว่าพระเยซูคริสต์ผู้ที่ไม่ใช่เผ่าเลวีทรงเป็นปุโรหิตตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ เพราะในธรรมบัญญัตินั้นระบุว่าปุโรหิตต้องสืบเชื้อสายจากเผ่าเลวีเท่านั้น แต่ก่อนที่จะมีธรรมบัญญัติ ในสมัยอับราฮัมก็ได้มีปุโรหิตของพระเจ้าที่ไม่ได้สืบเชื้อสายเลวี นั่นคือกษัตริย์เมลคีเซเดค ดังนั้นการอ้างถึงการถวายสิบลดของอับราฮัมจึงเป็นเพียงการเสริมให้ผู้อ่านเล็งเห็นถึงการเป็นปุโรหิตอย่างชอบธรรมของพระเยซูนั่นเอง

ข้อนี้ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นอีก เมื่อปรากฏว่ามีปุโรหิตอีกผู้หนึ่งตามแบบอย่างของเมลคีเซเดคเกิดขึ้น ผู้ซึ่งเป็นปุโรหิตโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งตามธรรมบัญญัติเรื่องเชื้อสาย แต่โดยฤทธิ์เดชแห่งชีวิตอันไม่สามารถจะทำลายได้ เพราะมีพยานกล่าวถึงพระองค์ว่า “พระเจ้าตรัสว่า ‘เจ้าจะเป็นปุโรหิตชั่วนิรันดร์ ตามแบบอย่างของเมลคีเซเดค’ ฮิบรู 7:15 - 17

ดังนั้นการใช้อับราฮัมเป็นตัวอย่างของการถวายทศางค์และกล่าวอ้างเพื่อให้คริสเตียนถวายสิบลดตามนั้นจึงไม่สมเหตุสมผล

1.2 ยาโคบ

เมื่อครั้งยาโคบขโมยสิทธิบุตรหัวปีมาจากเอซาวพี่ชาย และได้หนีจากเอซาวเพื่อเอาชีวิตรอด เมื่อมาถึงเบธเอล ยาโคบได้อธิษฐานต่อพระเจ้าว่า ถ้าพระเจ้าทรงนำให้เขาสามารถกลับมาบ้านบิดาได้อีกครั้งอย่างปลอดภัย ทุกสิ่งที่เขามี เขาจะถวายให้พระเจ้าหนึ่งในสิบ หรือถวายสิบลดให้พระเจ้านั่นเอง

แล้วยาโคบปฏิญาณว่า “ถ้าพระเจ้าทรงอยู่กับข้าพระองค์ ทรงพิทักษ์รักษาทางที่ข้าพระองค์จะไป ประทานอาหารให้ข้าพระองค์รับประทาน และเสื้อผ้าให้ข้าพระองค์สวม จนข้าพระองค์กลับมาบ้านบิดาของข้าพระองค์โดยสวัสดิภาพแล้ว พระยาห์เวห์จะทรงเป็นพระเจ้าของข้าพระองค์ และก้อนหินนี้ซึ่งข้าพระองค์ตั้งไว้เป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ จะเป็นที่ประทับของพระเจ้า และทุกสิ่งที่พระองค์ประทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะถวายหนึ่งในสิบแด่พระองค์” ปฐมกาล 28:20 - 22

จะเห็นได้ว่าการถวายสิบลดของยาโคบนั้นเป็นการถวายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และเราก็ไม่เห็นพระคัมภีร์กล่าวถึงการถวายสิบลดของยาโคบอีกเลย ดังนั้นจึงเป็นการไม่สมเหตุสมผลที่ยกตัวอย่างของยาโคบเพื่อให้คริสเตียนถวายสิบลดตาม

เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยก่อนที่จะมีธรรมบัญญัติของโมเสสนั้น เราเห็น 2 สิ่งที่พระเจ้าสั่งให้อับราฮัมและยาโคบปฏิบัติเหมือนกัน นั่นก็คือ การเข้าสุหนัตและการถวายสิบลด คำถามก็คือ ทำไมถึงเลือกแค่การถวายสิบลดมาบังคับใช้กับคริสเตียนเท่านั้น? หากเราอ้างว่าทศางค์มีมาตั้งแต่ก่อนมีธรรมบัญญัติ ถ้ายึดตามมาตรฐานนี้ พระเจ้าได้บอกให้อับราฮัมและยาโคบเข้าสุหนัต เมื่อมาถึงโมเสสจึงมีบทบัญญัติทั้งการเข้าสุหนัตและถวายทศางค์ คำถามคือ ทำไมคริสเตียนในปัจจุบันถึงไม่เข้าสุหนัต ทำไมเราถึงเลือกรับแต่การถวายทศางค์มาบังคับใช้กับคริสเตียน? ดังนั้นการนำเหตุการณ์ก่อนที่จะมีบทบัญญัติของโมเสสมากล่าวอ้างว่าเป็นคำสั่งเพื่อให้คริสเตียนถวายสิบลดจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล

- สมัยพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่

มีบางคนกล่าวว่าพระเยซูทรงสนับสนุนเรื่องการถวายสิบลด ตามที่มีบันทึกในพระธรรมมัทธิว 23:23 ว่า

“วิบัติแก่พวกเจ้า พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี คนหน้าซื่อใจคด เพราะพวกเจ้าถวายทศางค์ที่เป็นสะระแหน่ ลูกผักชี และยี่หร่า แต่เรื่องที่สำคัญกว่าในธรรมบัญญัติ คือความยุติธรรม ความเมตตาและความเชื่อนั้นพวกเจ้ากลับละเลย การถวายทศางค์นั้นเจ้าก็ควรปฏิบัติ แต่ไม่ควรละเลยเรื่องที่สำคัญนั้นด้วย”

จากพระคำข้างต้น พระเยซูกล่าวว่า “การถวายทศางค์นั้นเจ้าก็ควรปฏิบัติ” นี่คือการที่พระเยซูทรงสนับสนุนให้คริสเตียนถวายสิบลดหรือ? ถ้าหากเราดูบริบทของพระคำตอนนี้จะเห็นว่าสิ่งที่พระเยซูต้องการจะสื่อก็คือการกล่าวโทษพวกฟาริสีที่เป็นคนหน้าซื่อใจคด ที่มัวแต่ทำตามบทบัญญัติจนละเลยสิ่งที่สำคัญไป “แต่เรื่องที่สำคัญกว่าในธรรมบัญญัติ คือความยุติธรรม ความเมตตาและความเชื่อนั้นพวกเจ้ากลับละเลย” นอกจากนี้พระเยซูไม่ได้มาเพื่อล้มล้างธรรมบัญญัติ จึงไม่แปลกที่พระเยซูจะทรงเห็นด้วยกับการถวายทศางค์ แต่หลังจากการคืนพระชนม์ของพระเยซู ทุกอย่างได้สำเร็จแล้ว ทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว ทุกคนอยู่ภายใต้ยุคพระคุณ พันธสัญญาแห่งบทบัญญัติจึงถูกยกเลิกไปซึ่งรวมถึงการถวายทศางค์ด้วย ดังนั้นการอ้างถึงพระเยซูเพื่อให้คริสเตียนถวายสิบลดจึงไม่สมเหตุสมผล

“อย่าคิดว่าเรามาล้มเลิกธรรมบัญญัติและคำของบรรดาผู้เผยพระวจนะ เราไม่ได้มาล้มเลิก แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ” มัทธิว 5:17

คริสเตียนต้องถวายสิบลด… จริงหรือ?

2. หากไม่ถวายสิบลด ถือเป็นบาปและพระเจ้าจะลงโทษ - เป็นสิ่งไม่จริง

เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่าในพระคัมภีร์มีการกล่าวถึง 2 สิ่ง คือ สิ่งที่พระเจ้าสั่งให้ทำ กับสิ่งที่พระเจ้าไม่ให้ทำ การไม่ทำตามสิ่งที่พระเจ้าสั่งนั้นถึอว่าเป็นบาป หลายคนจึงถวายสิบลดเพราะกลัวการลงโทษ กลัวว่าจะทำผิดและทำบาปต่อพระเจ้า ไม่เพียงเท่านี้ เรายังอาจได้ยินคนยกพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมาอ้างด้วยว่าหากไม่ถวายสิบลดแล้วจะถูกพระเจ้าแช่งสาป

“เจ้าทั้งหลายต้องถูกสาปแช่งด้วยคำสาปแช่ง เพราะเจ้าฉ้อโกงเราทั้งชาติ” มาลาคี 3:9

“แต่ถ้าท่านไม่เชื่อฟังพระสุรเสียงของพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน และไม่ระวังที่จะทำตามพระบัญญัติทั้งสิ้นของพระองค์ และกฎเกณฑ์ของพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าบัญชาท่านในวันนี้ แล้วคำสาปแช่งทั้งหมดเหล่านี้จะลงมาเหนือท่านและตามทันท่าน” เฉลยธรรมบัญญัติ 28:15

ในความเป็นจริงก็คือ ปัจจุบันเราอยู่ในยุคของพระคุณ เราอยู่ภายใต้สัญญาคนละฉบับกับคนอิสราเอลในสมัยก่อน เราไม่ได้รอดด้วยการประพฤติ เมื่อการถวายสิบลดไม่ใช่ข้อบังคับที่เราต้องทำในยุคพระคุณ ดังนั้นจึงไม่มีคำสาปแช่งหรือการลงโทษเกิดขึ้นนั่นเอง

ในกาลาเทีย 3:10 กล่าวว่า เพราะว่าคนทั้งหลายซึ่งพึ่งการประพฤติตามธรรมบัญญัติ ก็ถูกสาปแช่ง เพราะพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า“ทุกคนที่ไม่ได้ประพฤติตามข้อความทุกข้อที่เขียนไว้ในหนังสือธรรมบัญญัติก็ถูกสาปแช่ง”

เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนที่พยายามทำดี พยายามทำตามบทบัญญัติซึ่งรวมถึงการถวายสิบลดด้วย เพราะกลัวว่าถ้าไม่ทำแล้วจะถูกพระเจ้าลงโทษ เรารู้หรือไม่ว่านั่นคือการที่เราดึงตัวเราเองกลับไปสู่การอยู่ภายใต้ธรรมบัญญัติอีกครั้งหนึ่ง เรากลับไปสู่การพึ่งพาการกระทำ ผลก็คือ เราได้หล่นไปจากพระคุณของพระเจ้าแล้ว

“ท่านทั้งหลายที่ปรารถนาจะถูกชำระให้ชอบธรรมโดยธรรมบัญญัติ ก็ถูกตัดขาดจากพระคริสต์ และหล่นจากพระคุณไปเสียแล้ว” กาลาเทีย 5:4

การพยายามถวายสิบลดอย่างสัตย์ซื่อเพื่อหวังว่าจะป้องกันตนเองจากการถูกลงโทษ แท้จริงแล้วเป็นการดึงตัวเรากลับไปสู่การอยู่ภายใต้ธรรมบัญญัติ ดึงเรากลับไปสู่การสาปแช่งอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง เราอยู่ในยุคแห่งพระคุณ การไม่ถวายสิบลดจึงไม่เป็นบาป เพราะไม่ใช่คำสั่ง เราจึงไม่ต้องกลัวอีกต่อไป

3. หากเราถวายสิบลดอย่างสัตย์ซื่อแล้วพระเจ้าจะอวยพรเรา - เป็นสิ่งไม่จริง

นี่คือสิ่งที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าหากเราถวายสิบลดอย่างสัตย์ซื่อ พระเจ้าจะอวยพรเรา และมีการยกข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ นา ๆ เพื่อสนับสนุนการถวายสิบลด คำถามคือ พระเจ้าอวยพรคนที่ถวายสิบลดจริงหรือ? ถ้าอับราฮัมได้รับการอวยพรจนร่ำรวยเพราะการถวายสิบลด ทำไมเราถึงไม่เห็นอับราฮัมถวายสิบลดอีกเลย?

3.1 เราจะเปิดหน้าต่างในฟ้าสวรรค์ให้เจ้า และเทพรอย่างล้นไหลมาให้เจ้า

“พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสว่า จงนำทศางค์เต็มขนาดมาไว้ในคลัง เพื่อว่าจะมีอาหารในนิเวศของเรา จงลองดูเราในเรื่องนี้ว่า เราจะเปิดหน้าต่างในฟ้าสวรรค์ให้เจ้า และเทพรอย่างล้นไหลมาให้เจ้าหรือไม่ เราจะขจัดพวกตั๊กแตนให้แก่เจ้า เพื่อว่ามันจะไม่ทำลายผลแห่งพื้นดินของเจ้า และผลองุ่นในสวนของเจ้าจะไม่ร่วง พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสดังนี้แหละ แล้วประชาชาติทั้งสิ้นจะเรียกเจ้าว่า ‘ผู้ที่ได้รับพระพร’ เพราะว่าแผ่นดินของเจ้าจะเป็นแผ่นดินที่น่าพึงใจ พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสดังนี้แหละ” มาลาคี 3:10 - 12

พระธรรมมาลาคีได้เป็นตัวอย่างที่ถูกยกมามากที่สุดเพื่อหนุนใจคริสเตียนให้ทำการถวายสิบลดอย่างสัตย์ซื่อ เมื่อเราสัตย์ซื่อกับพระเจ้าในเรื่องการถวาย พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะเปิดหน้าต่างท้องฟ้า (จริง ๆ หมายถึงให้มีฝนตก เพราะอิสราเอลสมัยนั้นทำการเกษตรและปศุสัตว์ ต้องพึ่งฝนจากธรรมชาติ) จะอวยพรเราอย่างมากมายจนคนจะเรียกเราว่า ‘ผู้ที่ได้รับพระพร’ คำถามคือ นี่คือสิ่งที่พระคัมภีร์ต้องการบอกเราจริงหรือ?

หากเราดูบริบทของพระธรรมมาลาคีแล้วจะพบว่ามีการนำไปใช้อย่างผิดประเด็นบ่อยครั้ง แท้จริงแล้วพระธรรมตอนนี้ไม่ได้ต้องการจะสื่อถึงเรื่องการถวายสิบลดและการอวยพรเมื่อเราถวาย แต่ต้องการจะบอกว่า ให้กลับมาหาพระเจ้า แล้วพระเจ้าจะกลับมาหาเรา ปัญหาของคนอิสราเอลในเวลานั้นก็คือไม่รู้ว่าจะต้องกลับมาหาพระเจ้ายังไง

“เจ้าได้หันเหไปเสียจากกฎเกณฑ์ของเราและไม่ได้รักษาไว้ ตั้งแต่ครั้งสมัยบรรพบุรุษของเจ้า พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสว่า เจ้าจงกลับมาหาเรา และเราจะกลับมาหาเจ้าทั้งหลาย แต่เจ้ากล่าวว่า ‘เราทั้งหลายจะทำอย่างไรถึงจะได้กลับมา?’” มาลาคี 3:7

พระเจ้าไม่ได้บอกคนอิสราเอลว่าวิธีการกลับมาหาพระเจ้าคือการไปโบสถ์ เพราะเขาไปโบสถ์อยู่แล้ว การกลับมาหาพระเจ้าไม่ใช่การกระทำตามพิธีกรรมเท่านั้น แต่เป็นใจที่ต้องการติดตามพระองค์อย่างสัตย์ซื่อ เชื่อฟังและทำในสิ่งที่พระองค์ได้สั่งเอาไว้ ในมาลาคี บทที่ 1:6 – 8 บอกว่า

“บุตรก็ย่อมให้เกียรติแก่บิดา คนใช้ก็ย่อมให้เกียรตินาย แล้วถ้าเราเป็นบิดา เกียรติของเราอยู่ที่ไหน? และถ้าเราเป็นนาย ความยำเกรงเราอยู่ที่ไหน? นี่แหละพระยาห์เวห์จอมทัพตรัสกับท่านนะ โอ บรรดาปุโรหิตผู้ดูหมิ่นนามของเรา ท่านก็ว่า ‘ข้าพระองค์ทั้งหลายดูหมิ่นพระนามของพระองค์อย่างไร?’ ก็โดยการนำอาหารมลทินมาถวายบนแท่นของเราอย่างไรล่ะ แล้วเจ้าว่า ‘ข้าพระองค์ทั้งหลายทำให้มันเป็นมลทินอย่างไร?’ ก็โดยคิดว่าโต๊ะของพระยาห์เวห์นั้นเป็นที่ดูหมิ่นอย่างไรล่ะ เมื่อเจ้านำสัตว์ตาบอดมาเป็นสัตวบูชา การทำอย่างนั้นไม่ผิดหรือ? และเมื่อเจ้าถวายสัตว์ที่พิการหรือป่วย การทำอย่างนั้นไม่ผิดหรือ? พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสว่า ถ้าพวกเจ้านำของอย่างนั้นไปกำนัลผู้ว่าราชการของพวกเจ้าดู เขาจะพอใจเจ้าหรือ? จะแสดงความชอบพอต่อเจ้าไหม?

“เงิน” คือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการวัดการเติบโตกับพระเจ้า เพราะคนส่วนใหญ่ยอมเสียทุกอย่างได้ แต่ยกเว้นเงิน เช่นเดียวกับคนอิสราเอลในสมัยของมาลาคีที่ได้นำอาหารมลทินและสัตว์ตาบอดมาถวายพระเจ้า พระเจ้าบอกว่า การที่เขาไม่สัตย์ซื่อในการถวาย ถือว่าเป็นการฉ้อโกงพระองค์ พระเจ้าจึงท้าทายพวกเขาว่า ให้ลองพระองค์ในเรื่องนี้ ให้เขาถวายอย่างสัตย์ซื่อ แล้วพระเจ้าจะเปิดหน้าต่างท้องฟ้า ให้เขากลับมาหาพระเจ้า แล้วพระเจ้าจะอวยพรผืนดินให้อุดมสมบูรณ์จนคนจะเรียกเขาว่า “ผู้ที่ได้รับพระพร”

ระวัง อย่าเข้าใจผิดว่าการมีเงินมากนั้น คือการอวยพรของพระเจ้า เพราะเราเห็นคนรวยมากมายที่มีเงินแล้วยังทุกข์อยู่ มีเงินแล้วกลับฆ่าตัวตาย การอวยพรไม่ใช่แค่การมีสิ่งต่าง ๆ แต่เป็นการที่เรามีความชื่นชมยินดีในสิ่งเหล่านั้น และคำว่า “ผู้ที่ได้รับพระพร” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าหากเราถวายสิบลดแล้วพระเจ้าจะอวยพรเรา แต่หมายถึงพระเจ้าทรงเห็นว่าเราเป็นคนสัตย์ซื่อ และใช้การได้ พระเจ้าจึงอวยพรเรา ดังนั้นพระธรรมมาลาคีโดยบริบทแล้วจึงไม่ได้สื่อว่าถวายสิบลดแล้วพระเจ้าจะอวยพร แต่เป็นการบอกว่าให้คนอิสราเอลกลับมาหาพระเจ้าโดยผ่านทางการถวายนั่นเอง

คริสเตียนต้องถวายสิบลด… จริงหรือ?

3.2 พระเจ้าจะอวยพรแบบ “ยัดสั่นแน่นพูนล้น”

จงให้เขา แล้วพวกท่านจะได้รับด้วยแบบยัดสั่นแน่นพูนล้นเต็มหน้าตักของท่าน เพราะว่าเมื่อท่านตวงให้เขาเท่าไร ท่านก็จะได้รับการตวงกลับคืนไปเท่านั้นเช่นกัน” ลูกา 6:38

เราคงจะคุ้นเคยกับพระคำตอนนี้เป็นอย่างดี หลาย ๆ ครั้งเราได้ยินคำหนุนใจโดยอ้างพระคำข้อนี้ว่า เมื่อเราให้ เมื่อเราถวายสิบลดอย่างสัตย์ซื่อ พระเจ้าจะอวยพรเราแบบ “ยัดสั่นแน่นพูนล้น” คือยัดให้เราจนเต็ม จากนั้นก็สั่น เขย่าเพื่อให้ลงไปอีก แล้วกดให้แน่น จากนั้นก็ให้จนพูนล้นออกมา ไม่เพียงเท่านี้ ยังหนุนใจเราอีกว่า เมื่อเราถวาย เราตวงให้พระเจ้าเท่าไร พระเจ้าก็จะตวงกลับคืนให้เราเท่านั้น คำถามคือ ถ้าพระคำข้อนี้เป็นจริง เราเห็นคริสเตียนไทยที่ถวายสิบลดอย่างสัตย์ซื่อเป็นอภิมหาเศรษฐีกี่คน?

อยากให้เราลองดูบริบทของพระธรรมตอนนี้ ในลูกา 6:27 – 36 บอกให้เรารักศัตรู จากนั้นก็ขึ้นหัวข้อใหม่เป็นเรื่องการพิพากษา ในลูกา 6:37 – 38 กล่าวว่า

“อย่าพิพากษาเขา แล้วพวกท่านจะไม่ถูกพิพากษา อย่าตัดสินลงโทษเขา แล้วพวกท่านจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ จงยกโทษให้เขา แล้วพวกท่านจะได้รับการยกโทษ จงให้เขา แล้วพวกท่านจะได้รับด้วยแบบยัดสั่นแน่นพูนล้นเต็มหน้าตักของท่าน เพราะว่าเมื่อท่านตวงให้เขาเท่าไร ท่านก็จะได้รับการตวงกลับคืนไปเท่านั้นเช่นกัน”

ตั้งแต่ข้อ 27 – 37 ลูกาเขียนถึงการรักศัตรู การไม่ติดสินผู้อื่น การยกโทษให้คนอื่น คำถามคือ เป็นไปได้หรือที่จู่ ๆ ในข้อ 38 จะพูดเกี่ยวกับการถวาย? ในบริบทของพระธรรมตอนนี้ไม่มีการพูดถึงเรื่องเงินหรือการอวยพรจากการถวายเลย ดังนั้นข้อ 38 จึงน่าจะพูดถึงการยกโทษ เพราะเมื่อเรายกโทษให้คนอื่น พระเจ้าก็จะยกโทษให้เราด้วย เหมือนกับที่พระเยซูบอกเราว่าเมื่อเรามาถึงแท่นบูชาแล้วนึกได้ว่ายังไม่ได้คืนดีกับพี่น้อง ก็ให้กลับไปคืนดีก่อนแล้วค่อยมาถวายบูชาใหม่ ดังนั้นในข้อ 38 จึงน่าจะพูดถึงการยกโทษให้กันและกัน ไม่น่าจะพูดถึงเรื่องพรจากการถวาย

“เพราะฉะนั้น ถ้าท่านนำเครื่องบูชามาถึงแท่นบูชาแล้ว และระลึกขึ้นได้ว่า พี่น้องมีเหตุขัดเคืองข้อหนึ่งข้อใดกับท่าน จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา และกลับไปคืนดีกับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาถวายเครื่องบูชาของท่าน” มัทธิว 5:23 - 24

3.3 พระเจ้าจะประทานให้เราจากทรัพย์สินอันรุ่งโรจน์ของพระองค์

“และพระเจ้าของข้าพเจ้าจะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นแก่พวกท่านจากทรัพย์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ในพระเยซูคริสต์” ฟีลิปปี 4:19

บางคนอาจจะอ้างว่าเมื่อเราถวายสิบลด พระเจ้าจะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นให้กับเราจากทรัพย์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นคำหนุนใจที่ทำให้เราอยากถวาย เพราะเมื่อเราถวาย เราจะไม่ขาดสิ่งจำเป็นใด ๆ เพราะพระเจ้ามีทรัพย์สมบัติมากมายที่พร้อมที่จะให้คนที่ถวายสิบลดให้พระองค์ พระคำตอนนี้ต้องการสอนเราแบบนี้จริง ๆ หรือ?

พระธรรมตอนนี้พูดถึงคริสตจักรที่เมืองฟีลิปปีที่ถวายให้เปาโลด้วยใจกว้างขวาง คริสตจักรนี้เคยถวายให้เปาโลเมื่อนานมาแล้ว จากนั้นก็ขาดการติดต่อกับเปาโล มารู้อีกทีก็ตอนที่เปาโลติดคุกอยู่ที่กรุงโรม จึงได้ส่งคนจากฟีลิปปีนำเงินไปให้เปาโลที่กรุงโรม ซึ่งมีระยะทางไกลมาก แม้ว่าคริสตจักรในเมืองฟีลิปปีจะยากจนแต่ก็มีใจถวายด้วยใจกว้างขวาง เขาถวายให้เปาโลอย่างเต็มล้น จนมีเหลือเฟือ (ฟีลิปปี 4:18) เขาถวายอย่างเกินความสามารถและให้ด้วยความสมัครใจ (2 โครินธ์ 8:1-3) นี่จึงเป็นเหตุผลที่อาจารย์เปาโลบอกเขาว่า “และพระเจ้าของข้าพเจ้าจะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นแก่พวกท่านจากทรัพย์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ในพระเยซูคริสต์” สังเกตว่าเปาโลใช้คำว่า “แก่พวกท่าน” เปาโลไม่ได้พูดถึงชาวเธสะโลนิกา ชาวกาลาเทียหรือชาวโครินธ์ แต่พูดถึงชาวฟีลิปปีที่ถวายอย่างสัตย์ซื่อครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นการพูดถึงเฉพาะเจาะจง ดังนั้นการอ้างพระคำตอนนี้เพื่อใช้กับการถวายสิบลดโดยทั่ว ๆ ไปว่าพระเจ้าจะอวยพรจึงไม่ตรงกับบริบทที่เปาโลต้องการจะสื่อถึง

มีบทเรียนที่สำคัญจากพระธรรมฟีลิปปี คือ เมื่อเราถวาย เราได้เปลี่ยนจากคนธรรมดา กลายเป็นหุ้นส่วนในการทำพันธกิจ (ฟีลิปปี 1:5) เรามีส่วนร่วมในงานรับใช้ แม้ว่าเราเป็นเพียงผู้สนับสนุน แต่ก็มีค่าเท่ากับเราได้รับใช้ด้วย (ฟีลิปปี 4:14 – 14) นอกจากนี้ยังเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า (ฟีลิปปี 4: 18) นี่ควรจะเป็นแรงจูงใจหลักในการถวายของเรา ไม่เพียงเท่านี้ เปาโลยังบอกอีกว่า ทำให้ผลกำไรในบัญชีของชาวฟีลิปปีเพิ่มมากขึ้น (ฟีลิปปี 4: 17) เหมือนกับที่พระเยซูบอกให้เราส่ำสมทรัพย์สมบัติในสวรรค์ ไม่ใช่ในโลกนี้ (มัทธิว 6:19 – 20) คำถามที่ชวนคิดก็คือ เราลงทุนเงินถวายของเราในอะไร? การหาพันธกิจที่จะถวายว่าพันธกิจไหนขาดเงิน พันธกิจไหนต้องการเงินมาก แล้วถวาย นี่ไม่ใช่เกณฑ์ที่ดีในการตัดสิน เราต้องดูว่าพันธกิจไหนเกิดผลมากต่างหาก มันเหมือนกับการลงทุนในธุรกิจนั่นเอง ดังนั้นจงถวายเพื่อให้ผลกำไรในบัญชีของเราทวีมากขึ้น

อย่าเข้าใจผิดว่าพระเจ้าไม่ได้อวยพรเมื่อเราถวาย เพราะใน 2 โครินธ์ 9:6 - 7 ได้บอกเอาไว้ว่า “นี่แหละคนที่หว่านเพียงเล็กน้อยก็จะเก็บเกี่ยวได้เพียงเล็กน้อย คนที่หว่านมากก็จะเก็บเกี่ยวได้มาก แต่ละคนจงให้ตามที่เขาคิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ให้ด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ให้ด้วยความจำใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนที่ให้ด้วยใจยินดี” พระเจ้าทรงอวยพรหากเราเป็นคนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อ พระเจ้ายังคงอวยพรการถวายด้วยใจกว้างขวาง เหมือนที่เปาโลบอกกับคริสตจักรในเมืองฟีลิปปี แต่พระเจ้าไม่อวยพรการถวายเพื่อหวังผล หวังพระพรจากพระเจ้า การถวายไม่ใช่การทำบุญที่เมื่อเราให้ไปแล้ว เราก็คาดหวังว่าจะได้บุญหรือได้ผลตอบแทนกลับมา ลองคิดดู หากเราไปงานปีใหม่ที่เจ้าของบริษัทจัดงานเลี้ยงให้พนักงาน แล้วเราก็นำกระเช้าปีใหม่ไปมอบให้เจ้าของบริษัทพร้อมกับบอกว่า “ผมเอากระเช้าปีใหม่มามอบให้ทุก ๆ ปี ไม่เคยขาด ท่านน่าจะจำได้นะครับ ปีนี้ผมก็ตั้งใจนำกระเช้าอย่างดีมามอบให้ท่านเช่นเคย ยังไงขอท่านอย่าลืมผมนะครับ ปีหน้าขอให้ผมได้เงินเดือนเยอะ ๆ โบนัสดี ๆ ได้มากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มานะครับ แล้วผมสัญญาว่าจะเอากระเช้าปีใหม่มามอบให้ท่านทุกปี และมูลค่ากระเช้าในแต่ละปีจะมากขึ้นตามเงินเดือนและโบนัสที่เพิ่มให้ผมแน่นอนครับ” ถามว่า ในความเป็นจริงเรากล้าทำและกล้าพูดแบบนี้กับเจ้าของบริษัทไหม? เป็นการสมควรไหมที่เราจะทำแบบนี้? ขนาดคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าเรา เรายังรู้เลยว่าเป็นการไม่สมควรที่จะพูดและทำเช่นนี้ แล้วพระเจ้าผู้สูงสุดผู้ทรงเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง เรากลับกล้าที่จะให้กระเช้าปีใหม่พระองค์เพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน นี่เป็นการสมควรแล้วหรือ? แล้วเราคิดว่าพระเจ้าจะให้เราไหม?

ในเรื่องของการอวยพรนั้น เรารู้หรือไม่ว่าเมื่อเรามารู้จักพระเจ้า มาเชื่อในพระองค์ พระเจ้าได้อวยพรเราอย่างมากมายแล้ว ในเอเฟซัส 1:3 บอกว่า “สาธุการแด่พระเจ้าพระบิดาของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้ประทานพรฝ่ายจิตวิญญาณทุกอย่างแก่เราในสวรรคสถานโดยพระคริสต์” พระเจ้าทรงประทานพรทุกอย่างฝ่ายจิตวิญญาณให้แก่เรา จากที่เราเคยเป็นศัตรูกับพระเจ้า พระองค์ทรงไถ่เราให้เราได้รับความรอด ให้เราได้กลับคืนดีกับพระองค์ พระเจ้ายังทรงเปิดเผยน้ำพระทัยของพระองค์ให้เราได้รับรู้ (เอเฟซัส 1:9) ไม่เพียงเท่านี้ พระองค์ยังให้เรามีสิทธิเป็นบุตรของพระเจ้า นั่นหมายถึงเราเป็นลูกที่จะได้รับมรดกจากพระบิดา เพื่อให้เรามั่นใจพระเจ้าจึงให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นมัดจำในการรับมรดกของเรา (เอเฟซัส 1:14) นี่คือพระพรมากมายที่พระเจ้าได้ให้เราแล้ว ซึ่งมีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทั้งสิ้น

E. หลักการถวายในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่

การทำความเข้าใจในเรื่องของ “การให้” สำหรับคริสเตียนนั้น เราต้องรู้จักคำว่า “คนต้นเรือน” เสียก่อน คนต้นเรื่องคือคนที่ดูแลทรัพย์สมบัติและทุกสิ่งทุกอย่างภายในบ้านของเจ้านาย คนต้นเรือนไม่ใช่เจ้าของแต่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเจ้าของ หน้าที่ของคนต้นเรือนก็คือการปกป้องดูแลสมบัติของเจ้านาย และทำให้สมบัตินั้นจำเริญขึ้น คนต้นเรือนจะเป็นคนที่เจ้านายไว้ใจมาก เหมือนในปฐมกาล 24:1 – 4 ที่อับราฮัมใช้คนต้นเรือนของเขาออกไปหาภรรยาให้กับบุตรชายของตน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ใช่คนคานาอัน แต่ต้องเป็นคนที่เป็นญาติกับตนเท่านั้น ลองคิดดูว่าอับราฮัมไว้วางใจคนต้นเรือนมากแค่ไหน มากถึงขนาดฝากอนาคตของตระกูลตนเองไว้กับเขา เพราะอับราฮัมมีลูกชายเพียงคนเดียว ถ้าหากเขาไม่เชื่อฟังอับราฮัม ถ้าหากเขาหาคนที่ไม่ได้เชื่อในพระเจ้าเหมือนกับอับราฮัม แล้วอนาคตลูกของเขาจะเป็นอย่างไร? คนต้นเรือนที่ดีจึงเป็นคนที่นายไว้ใจเป็นอย่างมาก

และนี่คือรูปแบบการให้ของคริสเตียนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นของพระเจ้า แต่พระองค์ทรงประทานให้กับเรา ให้เราเป็นผู้ดูแล หน้าที่ของเราคือปกป้องและทำให้สิ่งที่พระเจ้ามอบให้กับเรานั้นจำเริญขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของพระเจ้านั้นหมายรวมถึงชีวิตของเราด้วย เพราะพระเจ้าทรงซื้อเราไว้แล้วด้วยราคาที่สูง (1 โครินธ์ 6:19 – 20)

ในเมื่อชีวิตเราเป็นของพระเจ้า เราต้องคิดว่าเราจะใช้เวลา (Time) ความสามารถ (Talent) และทรัพย์สมบัติ (Treasure) ของเราอย่างไร เป้าหมายก็คือเพื่อปกป้องและทำให้แผ่นดินของพระเจ้าจำเริญขึ้น เหมือนกับพระเจ้าเป็นเจ้าของตึกแห่งหนึ่ง เราเป็นฝ่ายนิติบุคคลอาคารชุดที่ดูแลบริหารตึกนั้น หน้าที่เราคือดูแลตึกนี้ให้อยู่ในสภาพที่ดีและมีคนเช่าเต็ม เพื่อประโยชน์สูงสุดของเจ้านาย ถ้าหากวันหนึ่งฝ่ายบริหารอาคารคิดว่าตึกนี้เป็นของตนเอง และไม่ทำตามนโยบายที่เจ้าของตึกให้ไว้ เมื่อเป้าหมายลูกจ้างแตกต่างจากเป้าหมายของเจ้าของ ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าปัญหาต้องตามมาอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับชีวิตของเราทุกคน เรามักคิดว่าสิ่งที่เรามีอยู่นั้นเป็นของเราเอง เราหามาได้เอง ดังนั้นเราจึงไม่ให้ เราจึงไม่บริหารสิ่งที่เรามีอยู่เพื่อแผ่นดินของพระเจ้า แต่ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองจำเริญขึ้นเท่านั้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญ

คริสเตียนต้องถวายสิบลด… จริงหรือ?

ในมัทธิว 25:14 – 30 พระเยซูได้ยกตัวอย่างของบ่าว 3 คน ที่นายจะออกเดินทางไกล จากนั้นก็ฝากเงินไว้กับทั้ง 3 คน เป็นเงิน 5 ตะลันต์ 2 ตะลันต์ และ 1 ตะลันท์ สองคนแรกนำเงินไปค้าขายและได้กำไรเท่าตัว ในขณะที่คนสุดท้ายที่ได้ 1 ตะลันต์นั้นกลับนำเงินไปฝังดิน ไม่ได้ใช้สิ่งที่นายมอบให้เพื่อให้เกิดผลจำเริญขึ้น ในข้อ 19 บอกว่า “หลังจากผ่านไปเป็นเวลานาน นายของบ่าวทั้งหลายก็มาคิดบัญชีกับพวกเขา” สังเกตว่าพระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่านานแค่ไหน แต่โดยปกติเมื่อนักธุรกิจจะลงทุน ถ้าธุรกิจไหนให้ผลตอบแทนประมาณ 7% ขึ้นไป จึงถือว่าน่าลงทุน นั่นหมายถึงต้องใช้เวลาประมาณ 14 – 15 ปี จึงจะได้เงินกลับคืนมาเท่าตัว ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานมาก เช่นเดียวกับของประทานต่าง ๆ ที่พระเจ้ามอบไว้ให้เรา เราไม่ควรเก็บมันเอาไว้ เพราะของประทานที่พระเจ้าให้ก็คือโอกาสที่พระเจ้าจะใช้เราเพื่อให้แผ่นดินของพระองค์ขยายและเติบโตขึ้น การลงทุนนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล แต่หน้าที่ของเราคือสัตย์ซื่อในสิ่งที่นายมอบหมายไว้ให้เราดูแลและทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด

เมื่อนายกลับมา นายชมคนที่ได้เงิน 2 ตะลันต์ และ 5 ตะลันต์เหมือนกันคือ “ดีแล้ว เจ้าเป็นบ่าวที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในของเล็กน้อย เราจะตั้งเจ้าให้ดูแลของจำนวนมาก เจ้าจงร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด” (ข้อ 21 และ 23) พระเจ้าไม่ได้ดูว่าใครเกิดผลมากกว่าใคร แต่พระเจ้าถือว่าความสัตย์ซื่อของคนทั้งสองนั้นเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงไม่ควรเปรียบเทียบงานรับใช้ของเราว่าเกิดผลมากหรือน้อยกว่าคนอื่น เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญในสายพระเนตรของพระเจ้า

สำหรับคนที่ได้รับเงิน 1 ตะลันต์ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำให้เงินของนายสูญหายไป เขาทำหน้าที่แค่ปกป้องทรัพย์สินของเจ้านาย แต่ไม่ได้ทำให้มันจำเริญขึ้น นี่ไม่ใช่สิ่งที่นายพอใจ เพราะเขาไม่รู้จักใช้โอกาสที่นายมอบให้ทำให้สิ่งที่มีอยู่เกิดผล ผลก็คือเขาถูกนายต่อว่า ถูกริบเงินที่มีอยู่ และถูกนายทอดทิ้งเสีย คำถามคือ เราจะเป็นบ่าวแบบไหน? เรื่องนี้ไม่ได้สื่อถึงความรอด บ่าวคนสุดท้ายยังไงก็รอด ได้ไปสวรรค์ เพราะเรารอดแล้วโดยพระคุณผ่านทางความเชื่อ ตะลันต์นั้นคือโอกาสที่เราจะทำเพื่อแผ่นดินของพระเจ้า แต่บ่าวคนสุดท้ายที่นายให้ 1 ตะลันต์กลับละเลยโอกาสนั้น ดังนั้นสิ่งที่เขามีพระเจ้าจึงเอาไปเสีย และถูกนายว่าเป็นบ่าวชั่วและเกียจคร้าน แล้วเราอยากจะให้พระเยซูจอมเจ้านายเรียกเราว่าเป็นบ่าวแบบไหนในวันที่พระองค์เสด็จกลับมารับเรา?

ในเรื่องการให้ของคริสเตียนนั้น อาจารย์เปาโลให้หลักการให้ไว้ใน 2 โครินธ์ 9:7 ว่า “แต่ละคนจงให้ตามที่เขาคิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ให้ด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ให้ด้วยความจำใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนที่ให้ด้วยใจยินดี” คงไม่มีใครอยากได้ของขวัญจากคนที่จำใจให้ หรือถูกบังคับให้นำมาให้เราใช่หรือไม่ พระเจ้าก็เช่นเดียวกัน พระองค์ไม่พอพระทัยคนที่ถวายด้วยความฝืนใจ ให้ด้วยความเสียดาย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น การไม่ให้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

1. เราควรที่จะถวายเท่าไร

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่นั้นไม่ได้บอกจำนวนเอาไว้ว่าเราควรถวายให้เท่าไร เราเห็นหลาย ๆ คนถวายให้พระเจ้า 10% จากรายได้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีหากเขาทำด้วยความยินดี แต่เราไม่ควรให้ใครมากำหนดเราว่าเราควรถวายเท่าไร และเราก็ไม่ควรบอกคนอื่นให้ถวายเท่าไรด้วยเช่นเดียวกัน เหมือนกับการที่เราสามารถตื่นตีสามแล้วมานั่งอธิษฐานกับพระเจ้าจนถึงหกโมงเช้า จากนั้นจึงค่อยอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน หากทุกคนตื่นตีสามมาอธิษฐานได้เหมือนเราก็คงดี และพระเจ้าต้องพอพระทัยอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่ทุกคนสามารถทำแบบนั้นได้ และการที่เขาทำไม่ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคริสเตียนที่ไม่ดี ไม่รักพระเจ้า แต่ละคนพระเจ้าก็ให้จิตใจและความสามารถที่แตกต่างกัน สิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นคนที่พระเจ้าได้ให้เราเป็น ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ในเรื่องจำนวนเงินของการถวายก็เช่นเดียวกัน ให้เป็นเรื่องระหว่างเรากับพระเจ้า เป็นเรื่องของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะตรัสกับแต่ละคนว่าควรจะถวายเท่าไร อย่าให้ใครทำตัวเป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อบอกให้คนอื่นทำอะไรจะเป็นการดีที่สุด

2. จำเป็นต้องถวายให้คริสตจักรหรือไม่

2.1 จำเป็นที่คริสเตียนต้องถวายให้คริสตจักร

แนวคิดนี้บอกว่าคริสตจักรเปรียบเหมือนกับพระวิหารในสมัยพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ซึ่งในสมัยก่อนพระเจ้าให้คนเลวีเป็นผู้ดูแลพระวิหาร คนเลวีจึงได้ทศางค์จากคนอิสราเอล ในสมัยปัจจุบันพระเจ้าได้ให้ผู้รับใช้ต่าง ๆ ทำหน้าที่ดูแลคริสตจักร ดังนั้นโบสถ์จึงสมควรได้รับเงินถวายจากผู้เชื่อด้วย เพื่อให้โบสถ์สามารถดำเนินการต่อไปได้ นอกจากนี้พระเยซูยังกล่าวว่าผู้ที่ทำงานสมควรที่จะได้รับค่าจ้างของตน (มัทธิว 10:10, 1 โครินธ์ 9:14)

เพราะพระคัมภีร์กล่าวว่า“อย่าเอาตะกร้อครอบปากวัวขณะที่มันกำลังนวดข้าวอยู่” และ“คนงานก็สมควรจะได้รับค่าจ้างของตน” 1 ทิโมธี 5:18

2.2 ไม่จำเป็นต้องถวายให้คริสตจักร

แนวคิดนี้บอกว่า  การถวาย คือการให้โดยที่เราไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ การที่เราไปใช้บริการฟิตเนส ถามว่าเงินที่เราให้ไปเป็นเงินค่าใช้บริการหรือเงินถวาย? เช่นเดียวกัน เงินถวายที่โบสถ์ได้รับไปก็นำไปเป็นเงินเดือน ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในคริสตจักร และเราก็ไปนมัสการที่โบสถ์นั้น เราได้รับประโยชน์จากการไปร่วมนมัสการ ถามว่าเงินที่เราให้ไปจะเรียกว่าเงินถวายได้หรือ? แน่นอนว่ากินข้าวร้านไหนก็ต้องจ่ายร้านนั้น แล้วเงินที่เราจ่ายไปเราเรียกว่า “ค่าอาหาร” หรือว่า “เงินถวาย”? แนวคิดนี้บอกว่า คริสตจักรในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่นั้น เดิมเป็นการนมัสการตามบ้านของผู้เชื่อ การถวายก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนผู้รับใช้ในการทำพันธกิจ ถวายเพื่อให้ผู้ขัดสน คนยากจน การถวายเป็นไปโดยความสมัครใจ แต่คริสตจักรที่เห็นในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากแรกเริ่มมากทำให้เกิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนคริสตจักรในอดีต ถ้าคริสตจักรในปัจจุบันนั้นได้ถวายสิบลด โดยนำเงิน 10% ของรายได้จากการถวายไปใช้ในการทำพันธกิจต่าง ๆ เงินส่วนนี้แหละถึงจะเรียกว่าเป็นการถวายที่แท้จริง ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องถวายให้คริสตจักร แต่สามารถนำเงินนี้ไปใช้ในการทำพันธกิจต่าง ๆ ได้เลย เป็นการให้โดยที่เราไม่ได้รับประโยชน์ใด  ๆ และนี่จึงเป็นการถวายที่แท้จริง

เรื่องการถวายให้ใครเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คงไม่สามารถสรุปได้ว่าแนวคิดใดถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความจริงก็คือ หากคริสตจักรไม่ได้รับเงินถวายที่เพียงพอ คริสตจักรก็จะไม่สามารถอยู่ได้ พระเยซูทรงเป็นศีรษะของคริสตจักร การไม่ดูแลคริสตจักรจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเรื่องของการถวายเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างเรากับพระเจ้า เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถบังคับเราได้ สิ่งหนึ่งที่เราต้องจำเอาไว้ก็คือ พระเยซูทรงเตือนว่า “เพราะว่าทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน ใจของท่านก็อยู่ที่นั่นด้วย” มัทธิว 6:21 คำถามก็คือใจของเราอยู่ที่ไหน? เราใช้เงินที่พระเจ้าทรงมอบให้กับเราเพื่อให้งานของพระองค์จำเริญขึ้นหรือไม่? สิ่งที่พระเยซูตรัสนั้นไม่ได้ใช้แต่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคริสตจักรด้วย เราสามารถรู้ใจของคริสตจักรนั้น ๆ ได้ว่าใจของคริสตจักรอยู่ที่ไหนด้วยการใช้เงิน คริสตจักรนั้น ๆ ใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับอะไร ไปกับเงินเดือน ค่าอาคารและสถานที่ ค่าใช้จ่ายในการนมัสการ หรือลงทุนไปกับการทำพันธกิจ ลงทุนไปกับการขยายแผ่นดินของพระเจ้า ไม่ได้หมายความว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในคริสตจักรไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น แต่สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคริสตจักร สิ่งนี้เป็นเรื่องระหว่างพระเจ้าและคริสตจักรนั้น ๆ ไม่มีใครสามารถกำหนดหรือไปบอกแทนพระเจ้าได้ และทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองในวันสุดท้าย ดังนั้นจึงเป็นการดีที่สุดที่แต่ละคนทำตามหน้าที่ของตนเองที่พระเจ้าได้มอบหมายไว้ ให้ถวายทำตามการทรงนำ ตามที่คิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ให้ด้วยนึกเสียดาย เพราะนี่คือน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ต้องการให้เราเป็นคนต้นเรือนที่ดีที่พระองค์ทรงสามารถไว้ใจได้

เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า เราเข้ามาในโลกตัวเปล่าฉันใด เราก็จากโลกนี้ไปด้วยตัวเปล่าฉันนั้น ข้อความนี้ดูเผิน ๆ ก็น่าจะเป็นความจริง แต่ไม่ใช่สำหรับคริสเตียน เราเกิดมาในโลกตัวเปล่าก็จริง แต่รู้หรือไม่ว่าเราไม่จำเป็นต้องจากโลกนี้ไปตัวเปล่า เราสามารถใช้ทรัพย์สินเงินทองของเรา ความรู้ความสามารถของเรา เพื่อลงทุนสำหรับโลกหน้าได้ พระเจ้าอนุญาตให้เราสะสมทรัพย์สมบัติในสวรรค์ได้

คริสเตียนต้องถวายสิบลด… จริงหรือ?

ในลูกา 16:1 – 9 พระเยซูได้เล่าเรื่องพ่อบ้านที่ไม่สัตย์ซื่อให้สาวกของพระองค์ฟังว่า มีคนมาฟ้องเศรษฐีว่าพ่อบ้านของเขาได้ผลาญสมบัติของเขาไปมากมาย เศรษฐีจึงสั่งให้พ่อบ้านเอาบัญชีมาให้ตรวจดู พ่อบ้านรู้ดีว่าคงไม่สามารถทำงานอยู่ที่เดิมได้อย่างแน่นอน จึงต้องหาวิธีเอาตัวรอดโดยการไปหาลูกหนี้ของเศรษฐี เรียกมาถามทีละคนว่าเป็นหนี้นายเท่าไร คนแรกบอกว่าเป็นหนี้น้ำมัน 100 ถัง จึงให้แก้เป็น 50 ถัง คนต่อมาเป็นหนี้ข้าวสาลี 100 กระสอบ ก็ให้แก้เป็น 80 กระสอบ เพราะเขาหวังว่าเมื่อเขาออกจากบ้านเศรษฐีไปแล้ว คนเหล่านี้ก็คงจะต้อนรับเขา เพราะเขาช่วยลดหนี้ให้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนแปลกใจ เพราะว่าพระเยซูได้ใช้ตัวอย่างที่ไม่ดีเพื่อสอนเราเกี่ยวกับแผ่นดินของพระเจ้า พระเยซูบอกว่าคนของโลกนี้รู้จักใช้สติปัญญามากกว่าลูกของความสว่าง พ่อบ้านคนนี้รู้จักวางแผนอนาคตของตัวเอง รู้จักเอาตัวรอด คำถามก็คือเราใช้สติปัญญาของเรากับเรื่องแผ่นดินของพระเจ้ามากแค่ไหน? เรารู้จักวางแผนเพื่ออนาคตของเราเหมือนพ่อบ้านที่ไม่สัตย์ซื่อคนนี้หรือไม่? เราลงทุนไปกับชีวิตในโลกนี้มากกว่าชีวิตนิรันดร์บนสวรรค์หรือไม่?

จากพระธรรมตอนนี้พระเยซูต้องการให้เราใช้สติปัญญาในการเป็นคนต้นเรือนที่ดีของพระองค์ ในการใช้ทรัพย์สมบัติทางโลกที่พระเจ้าประทานให้เพื่อจะได้มิตรสหายมากมาย คำว่า “เพื่อที่ว่าเมื่อสูญเสียมันไปแล้ว เขาจะได้ต้อนรับท่านไว้ในที่อาศัยตลอดไป” นั่นคือ ให้เราใช้ทรัพย์สินเงินทองและความสามารถของเราเพื่อนำคนต่าง ๆ มารู้จักกับพระเจ้า และเมื่อวันนั้นมาถึง วันที่เราจากโลกนี้ไป เราจะเห็นมิตรสหายต่าง ๆ เหล่านี้รอต้อนรับเราในแผ่นดินสวรรค์ เป็นการใช้ทรัพย์สินเงินทองที่เรามีในปัจจุบันเพื่อสะสมบำเหน็จในสวรรค์ เป็นการจากโลกนี้ไปแบบไม่ใช่ตัวเปล่า แต่จากไปพร้อมกับทรัพย์สมบัติต่าง ๆ มากมายรอเราอยู่ที่สวรรค์นั้น

เราอาจจะเคยได้ยินบางคนพูดว่า อยากจะถวายเงินให้พระเจ้า แต่ตอนนี้ไม่มีเงิน รอให้มีเงินก่อน แล้วจะถวายให้พระเจ้าอย่างแน่นอน เราคิดว่าหากคน ๆ นี้มีเงินแล้วเขาจะถวายให้พระเจ้าไหม? ในลูกา 16:10 บอกว่า “คนที่ซื่อสัตย์ในของเล็กน้อยจะซื่อสัตย์ในของมากด้วย และคนที่ไม่ซื่อสัตย์ในของเล็กน้อย จะไม่ซื่อสัตย์ในของมากเช่นกัน” พระคัมภีร์บอกชัดเจนว่าถ้าเงินเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เขายังไม่สัตย์ซื่อ เมื่อเขามั่งมีก็ยากที่เขาจะสัตย์ซื่อถวายให้พระเจ้า พระเจ้าปรารถนาคนที่มีใจกว้างขวาง พระองค์ต้องการคนต้นเรือนที่สัตย์ซื่อเพื่อดูแลสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ได้มอบหมายให้ คำถามคือ วันนี้เราเป็นคนต้นเรือนแบบไหน?

“แต่ละคนจงให้ตามที่เขาคิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ให้ด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ให้ด้วยความจำใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนที่ให้ด้วยใจยินดี” 2 โครินธ์ 9:7


ถ้าหากสนใจอยากรู้เรื่องราวของการเป็นคริสเตียน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ เริ่มต้นการเป็นคริสเตียน หรือถ้าหากมีคำถามก็สามารถเมลมาสอบถามได้ที่ christiansiam@gmail.com

ค้นหาความจริง

เริ่มต้นการเป็นคริสเตียน

เกี่ยวกับเรา

เว็บสยามคริสเตียน (Siam Christian) เป็นเว็บส่วนบุคคลที่ไม่ขึ้นกับองค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า พระเยซู คริสเตียน หรือคริสตจักรต่าง ๆ ในประเทศไทย หากท่านมีคำถามหรือมีข้อเสนอแนะอะไรก็สามารถอีเมลมาพูดคุยกับเราได้ที่ christiansiam@gmail.com