เว็บสยามคริสเตียน > บทความคริสเตียน > อธิษฐานขอพรยังไงให้ได้ผล?
เรียบเรียงโดย พายุแห่งความเปรมปรีดิ์
เราเชื่อว่านอกจากโลกที่เราอยู่แล้ว ยังมีอีกโลกหนึ่งที่มองไม่เห็น เป็นโลกฝ่ายวิญญาณ เป็นโลกที่มีผู้ที่ทรงอำนาจอาศัยและครอบครองอยู่ ดังนั้นเมื่อชีวิตต้องเจอกับปัญหา เมื่อต้องเจอกับมรสุมร้ายที่พัดผ่านเข้ามา การอธิษฐานขอพรจึงเป็นความหวังอีกทางหนึ่งที่เราพึ่งพาเพื่อให้ผ่านวันอันเลวร้ายไปได้ คำถามคือ แล้วเราจะต้องอธิษฐานขอพรอย่างไรเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการ?
ในลูกา 11:1 – 4 และ มัทธิว 6:5 – 13 เป็นเรื่องราวของสาวกพระเยซูที่เห็นแบบอย่างการอธิษฐานของพระองค์ จึงได้ทูลขอพระองค์ให้ทรงสอนพวกเขาอธิษฐาน คำถามคือ คนเหล่านี้อธิษฐานไม่เป็นหรือถึงต้องให้พระเยซูสอน? คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะสาวกของพระเยซูล้วนแล้วแต่เกิดในครอบครัวยิวที่รู้จักพระเจ้า ทุกคนได้รับการอบรมสั่งสอนเรื่องการอธิษฐานมาตั้งแต่ยังเล็ก และพวกเขาทุกคนก็คงจะคุ้นเคยกับการอธิษฐานเป็นอย่างดี พวกสาวกคงเห็นว่าคำอธิษฐานของตนนั้นไม่เกิดผลซึ่งตรงข้ามกับพระเยซู เขาจึงอยากรู้เคล็ดลับว่าจะต้องอธิษฐานอย่างไรถึงจะได้รับพร
เราทุกคนในปัจจุบันก็คงสงสัยเหมือนกับสาวกของพระเยซูเช่นเดียวกันว่าทำไมคำอธิษฐานขอของเราถึงไม่เกิดผล เราไปห้างสรรพสินค้า เราอธิษฐานขอที่จอดรถ ในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่ได้อธิษฐานขอก็ได้ที่จอดรถเหมือนกัน เราขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เราอธิษฐานมานานแต่ก็ยังไม่ได้อย่างที่ขอ ในขณะที่คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ขอบางคนกลับร่ำรวย มีเงินทองมากมาย นี่แสดงว่าการอธิษฐานขอของเราที่ผ่านมาไม่ได้ผล!! แล้วเราต้องทำยังไง?
เมื่อสาวกขอให้พระเยซูสอนเขาเรื่องการอธิษฐาน พระเยซูทรงเริ่มต้นด้วยการบอกสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเมื่อเราอธิษฐาน ดังนี้
“เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐาน อย่าเป็นเหมือนพวกหน้าซื่อใจคด เพราะพวกเขาชอบยืนอธิษฐานในธรรมศาลาและตามมุมถนนต่างๆ เพื่อจะให้คนทั้งปวงเห็น เราบอกความจริงกับพวกท่านว่าพวกเขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว” มัทธิว 6:5
หลาย ๆ คนพยายามทำตนเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา ทำให้คนอื่นมองว่าตนเองนั้นเป็นคนดี แต่พระเจ้าทรงรู้จิตใจของเรา ทรงรู้ว่าแท้จริงแล้วภายในใจเรานั้นก็ไม่ได้ดีไปกว่าคนข้าง ๆ เราเป็นคนบาปเหมือนกับคนอื่น ๆ การทำศาสนกิจเพื่อโอ้อวดแบบนี้เราจึงได้รับรางวัลแล้ว นั่นคือ ได้รับความสนใจจากคนรอบข้าง ดังนั้นคำอธิษฐานของเราจึงไม่เกิดผล
แทนที่จะอธิษฐานเพื่อโชว์คนอื่น พระเยซูแนะนำให้เราเข้าไปในห้องที่มิดชิด ปิดประตูและใช้เวลาส่วนตัวอธิษฐานต่อพระเจ้า เป็นความจริงที่ว่าเราสามารถอธิษฐานที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ พระเจ้าทรงได้ยินเมื่อเราอธิษฐาน หลายคนใช้เวลาอธิษฐานตอนรถติด อธิษฐานระหว่างนั่งรถไปที่ทำงาน หรืออธิษฐานระหว่างการเดินเท้าไปตามที่ต่าง ๆ แต่พระเยซูทรงสอนเราให้อธิษฐานในที่ลับตาคน “และพระบิดาของท่านผู้ทอดพระเนตรเห็นในที่ลี้ลับจะประทานบำเหน็จแก่ท่าน” มัทธิว 6:6 คำถามคือ เราจะเชื่อพระเยซูหรือไม่?
“ส่วนท่านเมื่ออธิษฐานจงเข้าในห้องชั้นใน และเมื่อปิดประตูแล้ว จงอธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้สถิตในที่ลี้ลับ และพระบิดาของท่านผู้ทอดพระเนตรเห็นในที่ลี้ลับจะประทานบำเหน็จแก่ท่าน” มัทธิว 6:6
เราอธิษฐานถึงใคร? ถ้าจะให้คำอธิษฐานเกิดผล เราจะต้องอธิษฐานต่อคนที่มีอำนาจที่สามารถให้พรเราได้ นั่นก็คือต่อพระเจ้าพระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ผู้ทรงมีฤทธิ์อำนาจสามารถทำได้ทุกสิ่ง พระเยซูไม่ได้สอนให้สาวกอธิษฐานต่อพระองค์ ไม่ได้บอกให้สาวกอธิษฐานต่อพระแม่มารีย์ แม่ของพระองค์ หรือให้อธิษฐานต่อนักบุญต่าง ๆ แต่ให้อธิษฐานต่อ “พระบิดา” เท่านั้น การอธิษฐานต่อพระบิดาก็เหมือนกับการพูดคุยกับพ่อของเรา ยิ่งเราพูดกับพ่อบ่อยเท่าไร เราก็จะยิ่งสนิทกับพ่อมากขึ้นเท่านั้น แน่นอนเมื่อลูกสนิทขออะไรพ่อก็มีแนวโน้มที่จะได้มากกว่าลูกที่ไม่สนิท ดังนั้นเมื่อเราอธิษฐานกับ “พระบิดา” อย่าเอาแต่ขอ ขอ แล้วก็ขอ โดยไม่ได้พูดคุยกับพระองค์ เพราะคงไม่มีพ่อคนไหนอยากให้ของลูกที่เอาแต่ขอ ขอ ขอ เสร็จแล้วก็ไปโดยไม่มีการพูดจาหรือปฏิสัมพันธ์กัน ถ้าหากเราเข้าหาพ่อของเราอย่างถูกต้อง เข้าไปด้วยความรักที่ต้องการอยากอยู่ใกล้ อยากพูดคุยมากกว่าอยากได้ของ ๆ พ่อ เมื่อเรามีปัญหาและต้องการอะไร พ่อคงไม่รอช้าที่จะช่วยลูกรักอย่างเรา แล้วคำอธิษฐานของก็เราจะได้รับคำตอบอย่างแน่นอน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถอธิษฐานถึงพระบิดาได้ เฉพาะคนที่เป็นลูกเท่านั้นจึงจะมีสิทธิในการพูดคุยกับพระองค์ คำถามคือ แล้วเราจะเรียกพระเจ้าว่าพ่อได้อย่างไร? เราเรียกคน ๆ หนึ่ง ว่าพ่อได้ก็ต่อเมื่อเราเกิดจากคน ๆ นั้น เช่นเดียวกัน การที่จะเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” ได้ ก็จะต้องมีการเกิดจากพระเจ้า ซึ่งสิ่งนี้เป็นคำถามเดียวกันกับนิโครเดมัสที่ถามพระเยซูว่า คนชราแล้วจะเกิดใหม่ได้อย่างไร?
“พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า ถ้าคนใดไม่ได้เกิดใหม่ คนนั้นไม่สามารถเห็นแผ่นดินของพระเจ้า” นิโคเดมัสทูลพระองค์ว่า “คนชราจะเกิดใหม่ได้อย่างไร? จะเข้าไปในท้องของแม่ครั้งที่สองแล้วเกิดใหม่ได้หรือ?” พระเยซูตรัสว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า ถ้าใครไม่ได้เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ คนนั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้” ยอห์น 3:3 – 5
“การเกิดใหม่” ที่พระเยซูพูดถึงนี้ก็คือ การเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าที่ลงมาเกิดในโลกนี้ ทรงยอมรับโทษบาปแทนเราโดยการถูกตรึงตายบนไม้กางเขน และพระองค์ได้เป็นขึ้นมาอีกครั้งในวันที่ 3 ตอนนี้พระองค์ทรงอยู่ในสวรรค์เพื่อเตรียมที่อยู่สำหรับคนที่เชื่อในพระองค์ ที่จะได้อยู่ร่วมกับพระองค์เป็นนิรันดร์
ถ้าหากเราเชื่อว่าการทรงไถ่หรือการยอมรับโทษบาปแทนเราของพระเยซูนั้นเป็นความจริง การที่เราเชื่อวางใจในพระเยซู เราก็ได้รับสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า นั่นคือ การบังเกิดใหม่ คือการที่เราสามารถเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” ได้
“แต่ทุกคนที่ยอมรับพระองค์ คือคนที่เชื่อในพระนามของพระองค์นั้น พระองค์ก็จะประทานสิทธิให้เป็นลูกของพระเจ้า” ยอห์น 1:12
“แต่เมื่อพวกท่านอธิษฐาน อย่าพูดพล่อยๆ ซ้ำซาก เหมือนบรรดาคนต่างชาติเพราะเขาคิดว่าพูดมากหลายคำ พระจึงจะโปรดฟัง อย่าทำเหมือนพวกเขาเลย เพราะว่าสิ่งไรซึ่งพวกท่านจำเป็น พระบิดาของท่านทรงทราบก่อนที่ท่านจะทูลขอต่อพระองค์” มัทธิว 6:7 - 8
การอธิษฐานแท้จริงแล้วคือการที่พระเจ้าเปิดโอกาสให้เราสามารถพูดคุยกับพระองค์ได้ แต่หลาย ๆ คนลดการอธิษฐานเป็นแค่การแจ้งหรือการบอกพระเจ้าว่าเราต้องการอะไร หลาย ๆ คนลดการอธิษฐานเป็นแค่คำพูดจาที่สวยหรู ใช้คำซ้ำไปซ้ำมา หรือไม่ก็ใช้คำพูดที่มีความหมายคล้าย ๆ กัน หลาย ๆ คำ คำถามคือ เรากำลังอธิษฐานให้ใครฟัง? หลายครั้งเราอธิษฐานเพื่อให้คนข้าง ๆ เราฟัง ไม่ใช่ให้พระเจ้าฟัง พระเยซูบอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้คำสิ้นเปลือง พระเจ้าทรงรู้อยู่แล้วว่าเราต้องการอะไร เหล่าสาวกของพระเยซูคงจะแปลกใจไม่น้อยเมื่อพระเยซูบอกว่าพระเจ้าทรงรู้อยู่แล้วว่าเราต้องการอะไร เพราะคำถามที่ตามมาก็คือ แล้วทำไมเราถึงต้องอธิษฐานอีกละ? พระเยซูก็อธิษฐานทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพระเจ้ารู้อยู่แล้วว่าจะขออะไร พระเยซูอธิษฐานทำไม? นั่นก็เพราะการอธิษฐานไม่ใช่แค่การขอ แต่เป็นการพูดคุยกับพระเจ้า เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าให้สนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น
หลังจากที่พระเยซูบอกในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเมื่ออธิษฐานให้สาวกได้ฟังแล้ว พระองค์จึงเริ่มต้นสอนเรื่องการอธิษฐานว่าเราควรจะอธิษฐานอย่างไร
“ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ” มัทธิว 6: 9
พระเยซูได้เชิญเราให้เข้ามามีความสัมพันธ์แบบส่วนตัวกับพระเจ้า ไม่ใช่แบบเป็นทางการ การเข้าหาพระเจ้าที่ดีที่สุด คือ การเข้าหาพระองค์แบบเข้าหาพ่อ แบบที่เราเข้าไปพูดคุยกับพ่อของเรา ในขณะเดียวกันก็ให้เราระลึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ด้วย หลาย ๆ ครั้งเราลืมไปว่าพระเจ้าของเรายิ่งใหญ่ขนาดไหน คงเป็นการยากที่เราจะนึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ นึกถึงพระลักษณะของพระเจ้าขณะที่เราอธิษฐานเมื่อรถติด นี่จึงเป็นสาเหตุที่พระเยซูแนะนำให้เราหาที่ส่วนตัว ในห้องมิดชิดที่สงบ เพื่อที่เราจะได้ระลึกว่าพระเจ้าของเราคือใคร
“ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” มัทธิว 6: 10
แท้จริงแล้วท่าทีในการอธิษฐานที่ถูกต้องคือ “การยอมจำนน” คือการยอมให้น้ำพระทัยของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรก เป็นการยอมจำนนต่อความต้องการของเรา ไม่ใช่กำหนดความต้องการของเรา พระเยซูบอกว่าให้เราแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงให้ (มัทธิว 6:33) เหมือนกับการที่พระเยซูมาในโลกนี้ก็เพื่อทำตามน้ำพระทัยของพระบิดา เพื่อให้แผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่บนโลกนี้ เพื่อนำให้คนทั้งหลายได้รู้จักกับพระเจ้า ได้หลุดพ้นจากอำนาจบาป ได้รับความรอด ได้อยู่บนสวรรค์ร่วมกับพระองค์เป็นนิตย์ และนี่คือเป้าหมายของเราด้วย นั่นคือให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่บนโลกนี้ในชั่วชีวิตของเรา
ถ้าอธิษฐานเพื่อให้แผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่ คำถามคือ ถ้าขอแต่เรื่องของพระเจ้าแล้วเรื่องความต้องการของเราละ? นี่จึงเป็นสาเหตุที่พระเยซูบอกว่า “พระเจ้าทรงรู้อยู่แล้วว่าเราต้องการอะไร” ไม่ต้องรีบ การอธิษฐาน ไม่ใช่การเคลื่อนพระเจ้าให้ทำตามที่เราต้องการ แต่เป็นการนำตัวเราเข้าไปอยู่ในแผนการของพระเจ้า เข้าไปอยู่ในน้ำพระทัยของพระองค์ เมื่อคำอธิษฐานของเราเป็นส่วนหนึ่งของน้ำพระทัยพระเจ้า คำอธิษฐานของเราก็จะได้รับคำตอบ
ดังนั้นเมื่อเราอธิษฐาน เราจึงควรเริ่มต้นด้วยการระลึกว่าพระองค์เป็นใครและยอมจำนนต่อพระองค์ นี่คือคำอธิษฐานที่พระเยซูต้องการสอนเรา พระองค์ต้องการให้เราอธิษฐานอย่างถูกต้อง นั่นคือ ให้น้ำพระทัยของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรก เหมือนตอนที่พระเยซูทรงรู้ว่าลาซารัสป่วยหนัก ทั้ง ๆ ที่พระเยซูทรงรักและห่วงใยครอบครัวนี้เป็นอย่างมาก แต่พระองค์ไม่ได้รีบไปหาลาซารัสและรักษาเขาทันที พระเยซูทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าก่อน พระเยซูบอกกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “โรคนี้จะไม่ถึงตาย แต่เกิดขึ้นเพื่อเชิดชูพระเกียรติของพระเจ้า เพื่อให้พระบุตรของพระองค์ได้รับเกียรติเพราะโรคนี้” ยอห์น 11:4 นี่คือสาเหตุที่พระเยซูทรงรออีก 2 วัน เพราะน้ำพระทัยของพระเจ้าคือต้องการให้คนอิสราเอลได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ได้เห็นว่าพระเจ้ามีอำนาจที่สามารถชุบคนตายให้ฟื้นขึ้นมาได้ และให้คนอิสราเอลได้เห็นว่าพระเยซูคือผู้ที่พระเจ้าทรงใช้มา แม้ว่าสิ่งที่ขอดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่เมื่อพระเยซูให้น้ำพระทัยพระเจ้ามาเป็นอันดับแรก แม้คนที่ตายไปแล้วก็สามารถขอให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เมื่อคำอธิษฐานของเรามีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง เมื่อคำอธิษฐานของเราสอดคล้องกับน้ำพระทัยของพระองค์ พระเจ้าก็จะฟังและตอบคำทูลขอของเราอย่างแน่นอน
“ขอประทานอาหารประจำวันแก่พวกข้าพระองค์ในวันนี้ และขอทรงยกบาปผิดของพวกข้าพระองค์ เหมือนพวกข้าพระองค์ยกโทษบรรดาคนที่ทำผิดต่อข้าพระองค์ และขออย่าทรงนำพวกข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พวกข้าพระองค์พ้นจากความชั่วร้าย” มัทธิว 6:11 – 13
พระเยซูสอนสาวกให้อธิษฐานเพื่อความต้องการของตนเอง ดังนี้
“ขอประทานอาหารประจำวันแก่พวกข้าพระองค์ในวันนี้”
เมื่อครั้งที่คนอิสราเอลยังคงวนเวียนอยู่ในถิ่นทุรกันดารนั้น พระเจ้าได้ประทาน “มานา” ให้เป็นอาหารแก่พวกเขา ซึ่งพวกเขาต้องออกไปเก็บมานาวันต่อวันเท่านั้น ไม่สามารถเก็บข้ามคืนได้เพราะจะเน่า “โมเสสสั่งพวกเขาว่า “อย่าให้ใครเหลือไว้จนรุ่งเช้า” แต่พวกเขาไม่เชื่อฟังโมเสส บางคนเหลือไว้จนรุ่งเช้า อาหารนั้นก็มีหนอนขึ้น และบูดเหม็น โมเสสจึงโกรธคนเหล่านั้น” อพยพ 16:19 – 20 การเก็บมานาวันต่อวันเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนอิสราเอลต้องพึ่งพาพระเจ้า แม้ว่าในของสมัยพระเยซูและในสมัยของเรานั้น เราจะมีอาหารมากกว่าอาหารประจำวัน เรามีมากกว่าสมัยที่คนอิสราเอลอยู่ในถิ่นทุรกันดาร แต่แนวคิดยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ เราต้องพึ่งพาพระเจ้าวันต่อวัน อย่าคิดว่าสิ่งที่เรามีนั้นมาจากกำลังเราเอง อย่าคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องขึ้นตรงกับพระเจ้า เพราะว่าวันหนึ่ง เราอาจจะต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจ เจอกับปัญหาด้านสุขภาพ หรือแม้แต่คนที่เรารักอาจจะล้มป่วยลง อย่าให้เราต้องประสบกับปัญหาก่อนแล้วถึงจะตระหนักว่าเราจำเป็นต้องพึ่งพาพระเจ้า แต่ให้ระลึกเสมอว่าพระเจ้า “เยโฮวาห์ยิเรห์” ทรงเป็นผู้ประทานและจัดเตรียมทุกสิ่งให้แก่เรา และนี่คือ “การยอมจำนน” คือการไม่เอากำลังตนเองเป็นศูนย์กลาง เพราะรู้ว่าแหล่งกำลังที่แท้จริงนั้นมาจากพระเจ้า และท่าทีการอธิษฐานแบบนี้แหละคือสิ่งที่พระเยซูต้องการสอนสาวกของพระองค์
ในพระคัมภีร์เดิมนั้นก็ได้บันทึกท่าทีการอธิษฐานที่ขอการพึ่งพาจากพระเจ้า เป็นท่าทีแห่งความพอเพียง ไม่ขอให้ร่ำรวยมากไปจนลืมพระเจ้า หรือยากจนเกินไปจนต้องขโมย
“ขอให้ความเท็จและคำมุสาไกลจากข้าพระองค์ ขออย่าประทานความยากจนหรือความมั่งคั่งแก่ข้าพระองค์ ขอทรงเลี้ยงข้าพระองค์ด้วยอาหารที่จำเป็นแก่ข้าพระองค์ เกรงว่าข้าพระองค์จะอิ่ม และปฏิเสธพระองค์ แล้วพูดว่า “พระยาห์เวห์เป็นใครเล่า?” หรือเกรงว่าข้าพระองค์จะยากจนและขโมย และลบหลู่พระนามพระเจ้าของข้าพระองค์” สุภาษิต 30:8 – 9
คำอธิษฐานข้างต้นนี้อาจจะขัดแย้งกับความต้องการของเราหลาย ๆ คน ไม่ได้หมายความว่าจะร่ำรวยไม่ได้ เพราะคนที่เชื่อในพระเจ้าหลาย ๆ คนก็ร่ำรวยเงินทองมหาศาล แต่พระเจ้าไม่ต้องการให้ความร่ำรวยทำให้เราออกห่างจากทางของพระเจ้า ไม่อยากให้เราเป็นเหมือนกษัตริย์ซาโลมอน ที่เริ่มต้นกับพระเจ้าดี แต่เมื่อประสบความสำเร็จ เมื่อมีเงินทองมากมาย พระเจ้าที่เขารู้จักก็เล็กลง แต่ตัวเองกลับใหญ่ขึ้น และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กษัตริย์ซาโลมอนต้องห่างออกจาทางของพระเจ้าในบั้นปลายชีวิต ดังนั้นพระเยซูจึงสอนเราทุกคนให้อธิษฐานขออาหารประจำวัน ขอการพึ่งพาพระเจ้าในทุก ๆ วัน เพื่อที่เราจะได้ไม่หลงไปจากทางของพระองค์
“และขอทรงยกบาปผิดของพวกข้าพระองค์ เหมือนพวกข้าพระองค์ยกโทษบรรดาคนที่ทำผิดต่อข้าพระองค์”
เป็นการยากที่เราจะยกโทษให้คนอื่น และบ่อยครั้งก็เป็นการสมเหตุสมผลที่คน ๆ นั้นไม่สมควรต่อการยกโทษให้ แต่เหตุผลของการยกโทษให้ผู้อื่นคืออะไร? ไม่ใช่เพราะคน ๆ นั้นสมควรได้รับการยกโทษหรือไม่ แต่เป็นเพราะพระเจ้าได้ยกโทษให้เราก่อน พระเจ้าได้ยกโทษให้เราล่วงหน้า ไม่ว่าในอนาคตเราจะทำผิดอะไรก็ตาม “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์และเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น” 1 ยอห์น 1:9 ดังนั้น เราก็ควรจะยกโทษให้ผู้อื่นแบบนั้นเหมือนกัน เพราะการยกโทษนำมาซึ่งการคืนดี พระเจ้ายกโทษให้เราทำให้เราได้กลับคืนดีกับพระองค์ เช่นเดียวกัน การยกโทษให้ผู้อื่น ก็เป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับคน ๆ นั้นให้กลับมาดีอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง
การยกโทษเป็นส่วนหนึ่งของ “การยอมจำนน” เป็นส่วนจำเป็นหากเราต้องการให้คำอธิษฐานของเราเกิดผล เพราะหากเราไม่ยกโทษให้คนอื่น พระเจ้าก็จะไม่ยกโทษให้เราด้วย
“เพราะว่าถ้าพวกท่านให้อภัยการล่วงละเมิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะทรงให้อภัยการล่วงละเมิดของพวกท่านด้วย แต่ถ้าพวกท่านไม่ให้อภัยการล่วงละเมิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านจะไม่ทรงให้อภัยการล่วงละเมิดของพวกท่านเหมือนกัน” มัทธิว 6:14 - 15
และถ้าเราทำบาป พระเจ้าก็จะไม่ฟังคำอธิษฐานของเรา เหมือนกับที่บอกในยอห์น 9:31 ว่า “เรารู้ว่าพระเจ้าไม่ทรงฟังคนบาป แต่ทรงฟังคนที่ยำเกรงพระองค์และทำตามพระทัยของพระองค์” และการยอมจำนนเช่นนี้ยังเป็นการปกป้องตัวเราเองอีกด้วย เพราะเป็นการแสดงว่าเรามีพระเจ้าพระบิดาเป็นจอมเจ้านายของเราแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ยอมให้ความขมขื่น ความเจ็บปวด ความโกรธ ความเคียดแค้นมาเป็นเจ้านายเรา มาบงการให้เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ตอบแทน เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เจ้านายที่ดี ไม่สมควรต่อความจงรักภักดีของเรา เรามีจอมเจ้านายเพียงองค์เดียวเท่านั้น นั่นก็คือ “พระเจ้าพระบิดา” นั่นเอง
“และขออย่าทรงนำพวกข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พวกข้าพระองค์พ้นจากความชั่วร้าย”
ทำไมต้องขอการปกป้องจากการทดลอง? เพราะถ้าหากเราพลาดพลั้งหรือล้มลงนั่นหมายถึงการทำบาปนั่นเอง แต่หลายคนมักคิดว่าทำบาปก็ไม่เป็นไร ทำผิดก็สารภาพขอพระเจ้ายกโทษได้ หลายคนชอบเล่นเกม “ทำผิดก่อน ยกโทษทีหลัง” เป็นเกมที่คิดว่าพระเจ้าสามารถควบคุมได้ เห็นพระเจ้าเป็นแค่เครื่องทำความสะอาดชีวิต แต่ข่าวร้ายก็คือ พระเจ้าแบบนั้นไม่มีอยู่จริง เราไม่สามารถวางแผนทำสิ่งไม่ดี แล้วขอรับการปกป้องในภายหลังได้
การขอให้ปกป้องเราจากการทดลองเป็น “การยอมจำนน” อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการยอมที่จะไม่ทำตามใจตนเอง ยอมที่จะไม่ปล่อยใจไปกับสิ่งยั่วยวน เป็นการตั้งใจตีกรอบชีวิตให้อยู่ในทางที่พระเจ้ามอบให้ เพื่อให้เรามีเสรีภาพในการใช้ชีวิต เหมือนกับเทียนที่จุดไว้กลางแจ้ง เป็นเทียนที่ดูเหมือนจะมีเสรีภาพ เปลวไฟจะพัดไปทางไหนก็ได้ ไม่มีอะไรมาตีกรอบ แต่ถ้าหากมีลมพัดมาเมื่อไร เทียนเล่มนี้ก็ย่อมมีโอกาสที่จะดับได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าหากเราเอาแก้วไปล้อมรอบเทียนนั้นไว้ เทียนเล่มนั้นก็จะกลายเป็นตะเกียง แม้ว่ากรอบที่ให้มาจะดูเหมือนเป็นการจำกัดเสรีภาพ แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นการปกป้องให้แสงเทียนสามารถแกว่งไปมาได้อย่างอิสระและปลอดภัย และนี่คือเสรีภาพที่แท้จริง เป็นเสรีภาพภายใต้การปกป้อง ไม่ว่าจะมีลมจะพัดมาเมื่อไร แรงแค่ไหนก็ตาม เทียนเล่มนี้ก็จะยังสามารถดำรงอยู่ได้ เช่นเดียวกัน หากชีวิตเราอยู่ในกรอบที่เป็นน้ำพระทัยพระเจ้า ชีวิตเราก็จะมีอิสระและสามารถดำเนินต่อไปได้ยืนนานเหมือนกับเทียนที่ยากที่จะดับได้
การอธิษฐานขอเพื่อให้ได้รับพร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องขอให้ถูกคน ต้องขอกับคนที่มีอำนาจที่จะให้สิ่งนั้นกับเราได้ นั่นก็คือ “พระบิดา” ผู้สถิตในสวรรค์นั่นเอง เพราะพระองค์ทรงมีฤทธิ์อำนาจสามารถทำทุกสิ่งได้ และต้องขอในสิ่งที่เป็นน้ำพระทัยพระเจ้า ถ้าความต้องการของเราสอดคล้องกับน้ำพระทัยพระเจ้า คำอธิษฐานของเราก็จะได้รับคำตอบ สำหรับท่าทีในการขอที่ถูกต้องก็คือต้องขอด้วยใจที่ยอมจำนน นั่นคือการให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต พึ่งพาพระองค์ และดำเนินชีวิตตามน้ำพระทัยของพระเจ้า หรือการไม่เอาตัวเองไปยุ่งกับความบาปนั่นเอง สิ่งสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ จงลงมืออธิษฐาน เพราะถ้าเราไม่เริ่มต้นขอแล้ว ก็อย่าหวังว่าจะได้รับในสิ่งที่คิดเอาไว้นั้น
“จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่พวกท่าน เพราะว่าทุกคนที่ขอก็ได้ และทุกคนที่แสวงหาก็พบ ทุกคนที่เคาะก็จะเปิดให้เขา” มัทธิว 7:7 – 8
ถ้าหากสนใจอยากรู้เรื่องราวของการเป็นคริสเตียน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ เริ่มต้นการเป็นคริสเตียน หรือถ้าหากมีคำถามก็สามารถอีเมลมาสอบถามได้ที่ christiansiam@gmail.com
เว็บสยามคริสเตียน (Siam Christian) เป็นเว็บส่วนบุคคลที่ไม่ขึ้นกับองค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า พระเยซู คริสเตียน หรือคริสตจักรต่าง ๆ ในประเทศไทย หากท่านมีคำถามหรือมีข้อเสนอแนะอะไรก็สามารถอีเมลมาพูดคุยกับเราได้ที่ christiansiam@gmail.com