พระเจ้ามีจริงหรือ โลกที่เราอยู่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญหรือมีผู้สร้าง
ความเชื่อ ความหวังใจ และความรัก แต่ความรักใหญ่ที่สุด
1 โครินธ์ 13:13
Facebook Page   

> บทความคริสเตียน > เมื่อพระเจ้าสาบาน

เมื่อพระเจ้าสาบาน

เรียบเรียงโดย พายุแห่งความเปรมปรีดิ์

หลาย ๆ คนคงจะคุ้นเคยกับคำสาบาน เพราะคนไทยมีการสาบานมาตั้งแต่โบราณกาล โดยเฉพาะการทำ “พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา” ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้ปกครองเมืองประเทศราชหรืออาณาจักรต่าง ๆ ที่เป็นเมืองขึ้น ผู้ปกครองทุกคนต้องทำพิธีนี้เพื่อแสดงถึงความซื่อสัตย์ เพื่อแสดงว่าตนได้สาบานที่จะสวามิภักดิ์อย่างจริงใจ ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปก็ยังมีการกล่าวคำการสาบานต่อกันและกันด้วย การสาบานจึงถือเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ทั้งนี้ก็เพื่อจะยืนยันคำพูดหรือยืนยัน “คำสัญญา” ที่ตนเคยพูดเอาไว้ โดยส่วนใหญ่การสาบานนั้นมักจะมีการอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพยาน เพื่อให้คำสาบานน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น แล้วเรารู้หรือไม่ว่าพระเจ้าก็ทรงสาบานด้วยเช่นเดียวกัน?

เมื่อพระเจ้าสาบาน

โดยปกติแล้วพระสัญญาของพระเจ้านั้นมีอยู่ 2 แบบ แบบแรก เป็นพระสัญญาที่มีการบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ แบบที่สอง เป็นพระสัญญาที่นำมาประยุกต์ใช้เฉพาะบุคคล เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์นำพระสัญญานั้นมาบอกเราว่า นี่คือพระสัญญาสำหรับเราในสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่

ตัวอย่างพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำแบบเฉพาะบุคคลในพระคัมภีร์มีอยู่หลายคน หนึ่งในคนที่เรารู้จักกันดีก็คือ “อับราฮัม” ซึ่งในปฐมกาลบทที่ 12:2 - 3 พระเจ้าบอกให้อับราฮัมออกจากเมืองฮาราน ตอนนั้นอับราฮัมอายุ 75 ปี พระองค์สัญญาว่าจะทำให้เขาเป็นชนชาติใหญ่ จะอวยพรเขาและจะให้เขาเป็นพรต่อผู้อื่น และพระองค์ทรงย้ำพระสัญญาที่มีต่ออับราฮัมอีกในปฐมกาลบทที่ 15:5 ว่า จะให้เขามีลูกหลานมากมายดังดวงดาวบนท้องฟ้า แต่พระสัญญาที่พระเจ้าทำกับอับราฮัมไม่ได้สำเร็จในทันทีทันใด ในปฐมกาล 21:5 บอกว่าตอนที่อิสอัคเกิดนั้น อับราฮัมมีอายุ 100 ปี อับราฮัมต้องรอถึง 25 ปี กว่าที่อิสอัคจะคลอดออกมา เขาต้องรอเป็นเวลานานกว่าที่พระสัญญาของพระเจ้าจะเริ่มมองเห็นผลเป็นรูปธรรม

การเกิดของอิสอัคนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของพระสัญญาเท่านั้น พระสัญญาที่พระเจ้าทรงให้ไว้กับอับราฮัมยังไม่สำเร็จ เพราะเขายังไม่ได้มีลูกหลานมากมายดังดวงดาวบนท้องฟ้า ต่อมาใน ปฐมกาล 22:1-18 เราพบว่าพระเจ้าทรงทดสอบอับราฮัม นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เราหลาย ๆ คนคาดไม่ถึง เรามักคิดว่าเมื่อพระเจ้าสัญญาแล้ว เราแค่นั่งรอเฉย ๆ รอดูพระเจ้าทรงทำการของพระองค์ แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป แล้วพระเจ้าทรงมีเหตุผลอะไรที่ต้องทดสอบอับราฮัมอีก?

ปฐมกาล 22:1-18 เป็นเรื่องราวที่พระเจ้าสั่งให้อับราฮัมพาลูกชายของเขาไปถวายเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้า เรารู้ว่านี่เป็นการทดสอบจากพระเจ้า เพราะพระคัมภีร์มีการบันทึกเอาไว้ในปฐมกาล 22:1 ว่า “ต่อมาพระเจ้าทรงทดสอบอับราฮัม” แต่อับราฮัมไม่รู้ เขาคิดมาตลอดว่านี่คือสิ่งที่พระเจ้าต้องการ และเขาเชื่อฟังพระเจ้า ยอมทำตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีการโต้เถียงใด ๆ

การทดสอบของพระเจ้าก็เพื่อให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ เพื่อให้เราเชื่อและรู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้น แต่หลาย ๆ ครั้งการทดสอบของพระองค์ก็ก่อให้เกิดความสงสัย นำความขัดแย้งต่าง ๆ มากมายมาสู่ชีวิตของเรา ความขัดแย้งก็คือการที่พระเจ้าบอกอย่างหนึ่ง แต่ให้ทำอีกอย่างหนึ่ง และพระเจ้าปรารถนาการเชื่อฟังจากเรา อับราฮัมเป็นตัวอย่างที่ดีของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และการที่เขาเชื่อฟัง การที่เขายอมทำตามในสิ่งที่พระเจ้าบอกอย่างไม่สงสัย นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “บิดาแห่งความเชื่อ” นั่นเอง

เมื่อพระเจ้าสาบาน

เมื่อพระเจ้าบอกอับราฮัมว่า “ขอเจ้าจงพาลูกชายของเจ้า ลูกชายเพียงคนเดียวของเจ้า ผู้ที่เจ้ารัก คืออิสอัค ไปยังแคว้นโมริยาห์ จงถวายเขาเป็นเครื่องเผาบูชาบนภูเขาแห่งหนึ่งซึ่งเราจะสำแดงแก่เจ้า” ปฐมกาล 22:2 คำสั่งของพระเจ้าเกิดความขัดแย้งในตัวของมันเอง ดังนี้

1. ความขัดแย้งทางด้านอารมณ์

ในข้อ 2 บอกว่า พระเจ้าสั่งให้เขา “ฆ่าลูกชายที่เขารัก” จะมีพ่อสักกี่คนที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ อับราฮัมต้องต่อสู้กับความรู้สึกของตนเอง ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ และมากไปกว่านั้น เขาจะตอบนางซาราห์ยังไงว่าเขาได้ฆ่าลูกชายของเขาไปแล้วเพราะพระเจ้าสั่ง เป็นความขัดแย้งทางด้านอารมณ์ที่ยากที่จะจัดการได้จริง ๆ

2. ความขัดแย้งด้านเหตุและผล

พระเจ้าสัญญาในปฐมกาลบทที่ 12 ว่า จะให้อับราฮัมเป็นชนชาติใหญ่ผ่านทางลูกที่เกิดจากนางซาราห์ ซึ่งก็คือ “อิสอัค” แต่ตอนนี้พระเจ้าบอกให้อับราฮัมพาอิสอัคไปฆ่าเป็นเครื่องบูชา การฆ่าอิสอัคก็เท่ากับการทำลายพระสัญญานี้เสีย และยิ่งใน ปฐมกาล 22:2 ที่พระเจ้าบอกว่า “ลูกชายเพียงคนเดียวของเจ้า” จริง ๆ แล้วอับราฮัมยังมีลูกชายอีกคนหนึ่งที่เกิดจากนางฮาการ์ หญิงคนใช้ เขายังมี “อิชมาเอล” เป็นลูกอีกคนหนึ่ง แต่พระเจ้าไม่ได้นับอิชมาเอล เพราะพระองค์สัญญากับอับราฮัมว่าจะอวยพรผ่านทางลูกของนางซาราห์ คำพูดของพระเจ้าที่ว่าอับราฮัมมีลูกเพียงคนเดียวนั้น ยิ่งเป็นการยืนยันว่าอิสอัคคือลูกแห่งพระสัญญาจริง ๆ แต่ตอนนี้พระเจ้าสั่งให้ฆ่าอิสอัคเสีย ช่างเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลย

3. ความขัดแย้งด้านศาสนศาสตร์

การฆ่าอิสอัค ก็คือ “การฆ่าคน” ในปฐมกาล 9:6 พระเจ้าบอกว่า “ใครก็ตามที่ฆ่าคน เขาก็จะถูกคนฆ่า เพราะพระเจ้าทรงสร้างคนขึ้นตามพระฉายของพระองค์” พระเจ้าเคยบอกเองว่าห้ามฆ่าคน แต่ทำไมตอนนี้จึงสั่งให้อับราฮัมฆ่าลูกของตนเอง? ทำไมพระเจ้าพูดอย่างนึงแล้วกลับทำอีกอย่างหนึ่ง?

4. ความขัดแย้งฝ่ายวิญญาณ

พระเจ้าให้เผาอิสอัคเป็นเครื่องเผาบูชา นี่คือ “การนมัสการ” เป็นการนมัสการพระเจ้าที่เปลี่ยนจากการใช้แกะเป็นเครื่องเผาบูชามาเป็นใช้คนเป็นเครื่องเผาบูชาแทน เป็นนมัสการพระเจ้าโดยการฆ่าคน!!! พระองค์สั่งแบบนี้หมายความว่านี่คือสิ่งที่พระเจ้าโปรดปรานหรือ?

เมื่อพระเจ้าต้องการทดสอบเรา หลาย ๆ ครั้งจะมีการตัดสินใจใหญ่ที่ต้องทำ หลาย ๆ ครั้งของการทดสอบอาจรวมไปถึงการทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สมเหตุสมผล แล้วอับราฮัมตอบสนองต่อคำสั่งของพระเจ้านี้อย่างไร?

เมื่อพระเจ้าบอกให้อับราฮัมทำในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เมื่อพระเจ้าบอกให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ อับราฮัมกลับตอบสนองโดยการออกจากบ้านแต่เช้าตรู่

“เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น อับราฮัมลุกขึ้นและผูกอานลาของเขา เขาพาคนรับใช้สองคนกับอิสอัคบุตรชายไปด้วย เมื่อเขาได้ตัดฟืนพอสำหรับเครื่องเผาบูชาแล้วจึงมุ่งหน้าไปยังที่ซึ่งพระเจ้าตรัสบอกเขาไว้” ปฐมกาล 22:3

การที่อับราฮัมสามารถทำอย่างนี้ได้เพราะว่าเขาเชื่อว่าพระเจ้าสามารถชุบชีวิตคนให้เป็นขึ้นมาจากความตายได้ อับราฮัมมีอายุ 100 ปี ซาราห์ 90 ปี ตอนที่มีอิสอัค ถ้าพระเจ้าสามารถให้กำเนิดชีวิตจากคนชราที่เหมือนตายไปแล้วได้ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็ง่ายมาก พระเจ้าสามารถทำให้คนตายฟื้นได้แน่นอน

“อับราฮัมเชื่อว่าพระเจ้าทรงสามารถให้คนตายกลับเป็นขึ้นมาได้ กล่าวเปรียบเทียบได้ว่าเขาได้อิสอัคคืนมาจากความตาย” ฮิบรู 11:19

เราต้องเรียนรู้ที่จะจดจำสิ่งที่พระเจ้าได้ทำไปเมื่อวาน เพื่อจะสามารถเผชิญกับปัญหาที่เรากำลังเจออยู่ในวันนี้ แต่จะมีปัญหาก็คือ ถ้าเราไม่เคยมีประสบการณ์กับพระเจ้าเราก็ไม่มีอะไรจะให้จำ และเหตุการณ์นี้จะเป็นครั้งแรกที่เราจะมีประสบการณ์กับพระองค์ และจะเป็นความทรงจำเพื่อเตือนเราในครั้งต่อไป

เมื่อพระเจ้าสาบาน

เมื่อถึงสถานที่ที่พระเจ้าได้บอกไว้ อับราฮัมก็สร้างแท่นบูชา วางฟืนไว้บนแท่นบูชาพร้อมกับมัดอิสอัคไว้ เมื่ออับราฮัมเงื้อมมือจะฆ่าลูกของตน พระเจ้าก็ได้ห้ามอับราฮัมไว้ และได้บอกกับอับราฮัมว่า

“อย่าแตะต้องเด็กคนนั้น อย่าทำอะไรเขาเลย บัดนี้เรารู้แล้วว่าเจ้ายำเกรงพระเจ้า เพราะเจ้าไม่ได้หวงลูกชายของเจ้าจากเรา แม้เป็นลูกชายเพียงคนเดียวของเจ้า” ปฐมกาล 22:12

พระเจ้าทรงสัพพัญญู พระองค์ทรงล่วงรู้ทุกสิ่ง พระองค์ทรงรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ของวันนี้ ทรงรู้ว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น ปัญหาก็คือคำว่า “บัดนี้เรารู้แล้วว่า” หมายความว่าอะไร? หมายถึงพระเจ้าไม่เคยรู้มาก่อนหรือว่าอับราฮัมจะตัดสินใจยังไง? ถ้าพระเจ้าไม่รู้จิตใจเรา แล้วพระองค์จะทรงสัพพัญญูได้ยังไง?

พระเจ้าทรงล่วงรู้ทุกสิ่ง พระเจ้ารู้ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งไหนกำลังจะเกิด แต่พระเจ้าไม่มีประสบการณ์ เหมือนกับการที่พระเจ้าไม่มีประสบการณ์กับความบาป แม้ว่าพระองค์จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับความบาป รู้ว่าบาปคืออะไร มาจากไหน แต่ไม่รู้ว่ารู้สึกยังไงเมื่อทำบาป เพราะพระองค์ไม่มีบาป ไม่เคยทำบาปมาก่อน เช่นเดียวกัน เมื่อพระเจ้าอยากรู้ว่ามนุษย์รู้สึกยังไง พระองค์จึงได้ลงมาเกิดบนโลกนี้ เพื่อที่จะได้มีประสบการณ์แบบมนุษย์ เหมือนกับที่กล่าวไว้ใน ฮิบรู 4:15 ว่า “เพราะเราไม่ได้มีมหาปุโรหิตซึ่งไม่อาจเห็นใจในความอ่อนแอต่างๆ ของเรา แต่ทรงถูกลองใจเช่นเดียวกับเราทุกประการ กระนั้นก็ทรงปราศจากบาป “

คำว่า “บัดนี้เรารู้แล้วว่า” จึงหมายถึงการที่พระเจ้าทรงสัมผัสได้ถึงการเชื่อฟังของอับราฮัม ทรงสัมผัสได้ถึงความเชื่อที่อับราฮัมมีต่อพระองค์ หลายครั้งเราอาจสงสัยว่าทำไมพระเจ้าถึงให้เราเผชิญกับความทุกข์ยากที่ดูเหมือนไม่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ต้องการจะสัมผัสถึงความเชื่อและความรักของเราที่มีต่อพระองค์ พระเจ้าไม่ต้องการได้ยินคำพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ แต่พระองค์ต้องการสัมผัสถึงอารมณ์ของเรา นั่นคือเมื่อเราเลือกพระเจ้าเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เลือกในสิ่งที่เรารัก เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่าพระเจ้าจะสั่งในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล แต่สุดท้ายพระเจ้าก็ไม่ได้ให้อับราฮัมทำจริง ๆ เพราะนี่คือการทดสอบ และพระเจ้าจะทำบาปหรือทำในสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติของพระองค์ไม่ได้

เมื่อพระเจ้าสาบาน

ในปฐมกาล 22: 13 บอกว่า “อับราฮัมเงยหน้าขึ้นเห็นแกะผู้ตัวหนึ่ง เขาของมันเกี่ยวติดอยู่กับพุ่มไม้ จึงไปจับแกะนั้นมาถวายเป็นเครื่องเผาบูชาแทนลูกชายของเขา” ปกติแกะที่ติดอยู่กับต้นไม้นั้นมันจะพยายามดิ้นรนเพื่อให้เขาของมันหลุดจากต้นไม้ แต่เป็นเรื่องแปลกที่แกะตัวนี้กลับนิ่งเงียบ จะเห็นว่าอับราฮัมไม่เห็นทางแก้ปัญหาจนกว่าเขาจะเชื่อฟังพระเจ้า เช่นเดียวกันกับเราหลาย ๆ คน หลายครั้งเมื่อเกิดปัญหา หลายครั้งเมื่อเราวิตกกังวล เราพยามยามมองหาแต่ “แกะ” แต่กลับไม่ยอมเชื่อฟังพระเจ้า พระองค์เลยให้ “แกะ” ยังคงเงียบอยู่ จริง ๆ แล้วทางแก้ปัญหาก็อยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว แต่พระเจ้ายังไม่เปิดเผยให้เรารู้จนกว่าพระองค์จะสัมผัสถึงการเชื่อฟังของเรา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์?

ในปฐมกาล 22: 16 – 18 บอกว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศว่า เราปฏิญาณโดยตัวของเราเองว่า ด้วยเหตุที่เจ้าทำเช่นนี้และไม่ได้หวงแม้กระทั่งลูกชายของเจ้า คือลูกชายเพียงคนเดียวของเจ้า เราจะอวยพรเจ้าแน่นอนและจะทำให้ลูกหลานของเจ้ามีจำนวนมากมายเหมือนดวงดาวในท้องฟ้า เหมือนเม็ดทรายที่ชายทะเล ลูกหลานของเจ้าจะครอบครองเมืองต่างๆ ของเหล่าศัตรูของพวกเขา และทุกประชาชาติทั่วโลกจะได้รับพรผ่านทางเชื้อสายของเจ้า เพราะเจ้าได้เชื่อฟังเรา”

คำว่า “ปฏิญาณ” นั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ “สาบาน” นั่นเอง แต่คำสาบานของพระเจ้าไม่เหมือนของคนทั่ว ๆ ไป พระองค์ไม่ต้องอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ไม่ต้องอ้างถึงใคร พระเจ้าสาบานโดยอ้างพระองค์เอง เพราะพระองค์ใหญ่ที่สุด ในฮิบรู 6:13 กล่าวไว้ว่า “เมื่อครั้งพระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัม เนื่องจากไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าที่พระองค์จะทรงอ้างถึงในคำสาบาน พระองค์จึงทรงสาบานโดยอ้างพระองค์เอง” การที่พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นก็หมายความว่าจะไม่มีสิ่งใดมาขวางให้พระสัญญาไม่สำเร็จ ดังนั้นหน้าที่ของเราคือก็ทำการเชื่อฟังให้เสร็จสิ้นและรอคอยพระสัญญานั้น เพราะจะมาถึงเราอย่างแน่นอน

พระเจ้าสาบานว่าจะอวยพรอับราฮัม ถ้าเราย้อนกลับไปดู จะเห็นว่าพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะอวยพรอับราฮัมตั้งแต่ในปฐมกาลบทที่ 12 แต่พระเจ้าไม่ได้สาบานกับอับราฮัมจนมาถึงปฐมกาลบทที่ 22 มีความแตกต่างระหว่าง “พระสัญญาของพระเจ้า” กับ “คำสาบานของพระองค์” พระเจ้าทรงสาบานกับพระสัญญาอันเดิมที่ให้ไว้กับอับราฮัม

พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะอวยพรอับราฮัมให้มีลูกดกตอนที่เขาอายุ 75 ปี และอับราฮัมมีอิสอัคซึ่งเป็นลูกที่เกิดตามพระสัญญาตอนอายุ 100 ปี เขาต้องรอถึง 25 ปี กว่าพระสัญญาของพระเจ้าจะเริ่มต้นขึ้น และในตอนนี้อิสอัคน่าจะโตเป็นวัยรุ่นแล้ว เพราะเขารู้ว่าการถวายเครื่องบูชาต้องมีแกะ เขาสามารถเดินทางไปกับอับราฮัมซึ่งมีอายุเป็นร้อยปีเพียงลำพังได้ อีกทั้งยังสามารถแบกฟืนขึ้นเขาได้ แสดงว่าอิสอัคไม่ใช่เด็กเล็ก ๆ อีกต่อไป อับราฮัมต้องรอมากกว่า 30 ปี กว่าที่พระเจ้าจะสาบานว่าจะทรงอวยพรตามพระสัญญาที่เคยให้ไว้

เมื่อพระเจ้าสาบาน

เราหลายคนอาจจะรู้สึกเหมือนกันว่าพระเจ้าเคยบอกว่าจะทำอะไรตั้งนานแล้ว แต่ทำไมยังไม่เกิดขึ้น? พระองค์สัญญามาเป็นปีแล้ว แต่ทำไมยังเงียบอยู่? จะมีช่วงเวลาระหว่างวันที่พระเจ้า “สัญญา” กับวันที่พระองค์ “สาบาน” ว่าจะทำ ช่วงเวลาที่ว่านั้นเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้ากำลังเตรียมการของพระองค์เพื่อเรา และเตรียมเราให้พร้อมเพื่อจะรับพระสัญญานั้น

ถ้าหากเรามองดูชีวิตของอับราฮัมระหว่างปฐมกาลบทที่ 12 จนถึง ปฐมกาลบทที่ 22 นั้น จะเห็นว่าอับราฮัมได้ทำผิดหลายสิ่งหลายอย่าง เขาโกหกเรื่องนางซาราห์จนเกือบทำให้ภรรยาของเขาตกไปเป็นของผู้อื่น (ปฐมกาล 12:13) เขามีลูกจากหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตนเอง (ปฐมกาล 16:4) นี่จึงเป็นสาเหตุที่พระเจ้าทดสอบอับราฮัม เพราะเขายังไม่พร้อมสำหรับพระสัญญานั้น เขายังไม่สามารถจัดการกับพระสัญญานั้นได้อย่างดีพอ ช่วงเวลาระหว่าง “พระสัญญาของพระเจ้า” กับ “คำสาบานของพระองค์” คือ ช่วงเวลาแห่งการเตรียมตัว

อย่าท้อใจหากพระสัญญาของพระเจ้ายังไม่เป็นจริง แต่เราควรใช้เวลานี้สำรวจดูชีวิตของเราว่ามีอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข มีอะไรบ้างที่เราต้องจัดการเพื่อจะได้พร้อมสำหรับพระสัญญาที่พระเจ้าได้ให้ไว้นั้น แม้ว่าอับราฮัมจะไม่ได้มีชีวิตอยู่จนเห็นลูกหลานทวีมากมายดังดวงดาวบนท้องฟ้า แต่พระเจ้าก็ให้เขามีลูกมากมายเพื่อยืนยันพระสัญญาและความเชื่อที่เขามีนั้น ในปฐมกาล 25:1 – 2 นั้น บอกว่าหลังจากนั้นอับราฮัมมีลูกเพิ่มอีก 6 คน นี่คือการอัศจรรย์ที่พระเจ้าให้อับราฮัมได้เห็น แม้ว่าเขาจะชรามากแต่ก็ยังมีลูกดกได้ นี่เป็นการยืนยันจากพระเจ้าว่าพระสัญญาที่พระองค์เคยให้ไว้กับเขาจะสำเร็จแน่นอน

เมื่อพระเจ้าทรงสัญญากับเรา แสดงว่าพระองค์ต้องการที่จะอวยพรเรา แต่พระสัญญาจะมาเร็วหรือช้านั้นก็ขึ้นอยู่กับเราว่าชีวิตของเราพร้อมที่จะรับพระพรนั้นหรือยัง? เราพร้อมที่จะเชื่อฟังพระเจ้าหรือไม่? เราพร้อมที่จะให้พระองค์ได้สัมผัสถึงความเชื่อและความรักของเราหรือไม่? แล้ววันนี้พระเจ้าได้สาบานกับเราหรือยัง?

“เนื่องจากพระเจ้าทรงประสงค์จะให้บรรดาทายาทผู้จะได้รับสิ่งที่ทรงสัญญาไว้รู้อย่างชัดเจนว่าความมุ่งหมายของพระองค์นั้นไม่เปลี่ยนแปลง พระองค์จึงทรงยืนยันพระสัญญานั้นด้วยคำสาบาน พระเจ้าทรงกระทำเช่นนี้เพื่อว่าเราผู้ได้หนีมายึดความหวังซึ่งทรงหยิบยื่นให้ จะได้รับกำลังใจอย่างใหญ่หลวงโดยสองสิ่งนี้ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะตรัสมุสา” ฮิบรู 6:17 - 18


ถ้าหากสนใจอยากรู้เรื่องราวของการเป็นคริสเตียน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ เริ่มต้นการเป็นคริสเตียน หรือถ้าหากมีคำถามก็สามารถเมลมาสอบถามได้ที่ christiansiam@gmail.com

ค้นหาความจริง

เริ่มต้นการเป็นคริสเตียน

เกี่ยวกับเรา

เว็บสยามคริสเตียน (Siam Christian) เป็นเว็บส่วนบุคคลที่ไม่ขึ้นกับองค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า พระเยซู คริสเตียน หรือคริสตจักรต่าง ๆ ในประเทศไทย หากท่านมีคำถามหรือมีข้อเสนอแนะอะไรก็สามารถอีเมลมาพูดคุยกับเราได้ที่ christiansiam@gmail.com